การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก
ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้วิธีการศึกษาชั้นเรียน
ผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูโรงเรียนวัดสโมสร
ผู้วิจัย ชมพูนุช มาโยธา
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการ
ปีที่ทำวิจัย 2566
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้วิธีการศึกษาชั้นเรียนผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูโรงเรียนวัดสโมสร มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้วิธีการศึกษาชั้นเรียนผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูโรงเรียนวัดสโมสร ดำเนินการวิจัย 3 ขั้นตอน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้ และแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้วิธีการศึกษาชั้นเรียนผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูโรงเรียนวัดสโมสร 3) เพื่อประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้วิธีการศึกษาชั้นเรียนผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูโรงเรียนวัดสโมสร ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารและครูโรงเรียน วัดสโมสร จำนวน 40 คน เลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) โดยเลือกจาก ผู้อำนวยการสถานศึกษา 1 คน ครูผู้สอนระดับชั้นปฐมวัย 5 คน ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษา จำนวน 26 คน และ ครูผู้สอนระดับชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 8 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบประเมินการจัดการเรียนรู้เชิงรุกและคู่มือการใช้รูปแบบ ดำเนินการทดลอง จำนวน 30 ชั่วโมง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
สรุปผลการวิจัย พบว่า
1) สภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับมาก (x-bar =4.26, S.D.=.52) และแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุก คือ การเรียนรู้ร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพในการพัฒนาครูให้ทำงานร่วมกันด้วยกระบวนการของการศึกษาชั้นเรียนร่วมกัน 2) ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ หลักการของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ เนื้อหาของรูปแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบ และการวัดและประเมินผล โดยกระบวนการจัดการเรียนรู้ มี 5 ขั้น ได้แก่ ขั้น 1 รวมพลังสร้างความเข้มแข็งของทีม ขั้น 2 พัฒนางานแบบมีส่วนร่วม ขั้น 3 การจัดการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง ขั้น 4 สะท้อนคิดและแลกเปลี่ยน ขั้น 5 การวิจัยเชิงปฏิบัติการ การตรวจสอบรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า ความเหมาะสมของรูปแบบภาพรวมอยู่ในระดับมาก 3) ผลการนำไปใช้ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้วิธีการศึกษาชั้นเรียนผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 40 คน พบว่า การจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้วิธีการศึกษาชั้นเรียนผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูโรงเรียนวัดสโมสร มากกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด ร้อยละ 70.0 (3.50 คะแนนขึ้นไป) เท่ากับ 4.22 คะแนน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผลการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้วิธีการศึกษาชั้นเรียนผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูโรงเรียนวัดสโมสร พบว่า การประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกโดยใช้วิธีการศึกษาชั้นเรียนผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูโรงเรียนวัดสโมสร ภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( x-bar= 4.28, S.D. = .48)