การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อพัฒนา
ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔
ชื่อผู้รายงาน : นางรัตนา เนียมวีระ
พุทธศักราช : 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพี่อพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ 3) เพื่อประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ในด้านต่างๆ ดังนี้ (3.1) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณก่อนและหลังเรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ , (3.2)เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ และ (3.3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โรงเรียนเทศบาล ๑ นาเริ่งราษฎร์บำรุง สังกัดกองการศึกษาเทศบาลตำบลหนองแค จังหวัดสระบุรี จำนวน 32 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ , แผนการจัดการเรียนรู้ , แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ , แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ( X ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( S.D. ) สถิติทีแบบไม่อิสระและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ มีชื่อว่า PPESA Model มีองค์ประกอบคือ หลักการ,วัตถุประสงค์ , กระบวนการเรียนการสอนและเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้โดยกระบวนการเรียนการสอนมี ๕ ขั้นตอน คือ 1) ขั้นเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ ( Preparation: P ) 2) ขั้นฝึกปฏิบัติ ( Practice: P ) ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอนย่อย คือ ขั้นที่ 1 คิดวิเคราะห์ปัญหา ขั้นที่ 2 ระบุปัญหา ขั้นที่ 3 ระบุสาเหตุและทางเลือกในการแก้ปัญหา ขั้นที่ 4 ตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหา และขั้นที่ 5 สะท้อนความคิด 3) ขั้นประเมินผล ( Evaluation :E) 4) ขั้นสรุปและประยุกต์ใช้ ( Summarize and Applying: S ) และ ๕) ขั้นรวมพลังประยุกต์และตอบแทนสังคม (Applying and Serving Collaboratively: A) โดยที่รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ( PPESA Model ) ที่พัฒนาขึ้นมานี้มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.25/88.45 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. หลังการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ ( PPESA Model ) นักเรียนมีทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่ต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากทีสุด