การจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพหุปัญญา
บทสรุป
การจัดการเรียนรู้ตามแนวพหุปัญญารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพของตนให้บรรลุผลสำเร็จในการเรียน เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ส่งเสริมความสามารถแต่ละด้าน เหมาะกับการจัดการเรียนรู้ทุกกลุ่มกลุ่มสาระการเรียนรู้ ส่งเสริมคุณลักษณะเก่ง ดี มีสุข เน้นการพัฒนาผู้เรียนให้รอบด้าน และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่กำหนดในหลักสูตร
โรงเรียนบ้านโคกสีวิทยาเสริม ได้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวพหุปัญญา โดยมีการพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้ พัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน มีการนิเทศ กำกับติดตามและสะท้อนผลการดำเนินงานด้วยกระบวนการ PLC ส่งผลให้ครูมีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ตามแนวพหุปัญญา นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์และผลการประเมินสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน สูงกว่าค่าเป้าหมายของสถานศึกษา
วิธีดำเนินการ
ขั้นที่ 1 ขั้นการวางแผน(Plan)
1. ศึกษาหลักสูตรสถานศึกษา วิเคราะห์ผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจาก SAR รายงานการใช้หลักสูตร รายงานกิจกรรมและโครงการในปีการศึกษาที่ผ่านมา เพื่อกำหนดกรอบในการพัฒนา โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการศึกษาวิเคราะห์ พิจารณาและสาเหตุของปัญหา เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา ของโรงเรียนบ้านโคกสีวิทยาเสริม
2. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันนำสภาพปัจจุบันและปัญหาที่ร่วมกันวิเคราะห์ มากำหนดเป็นแผนงานและแนวทางในการพัฒนาครู โดยกำหนดกิจกรรมหลักคือ การประชุมสร้างความตระหนักและความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา
3. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนการดำเนินงานและการติดตาม
ขั้นที่ 2 ขั้นการปฏิบัติการ (Do)
1. การลงมือดำเนินงานตามแผนการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา ประกอบด้วย การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา การอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนตามแนวพหุปัญญา การจัดกิจกรรมชุมชน การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร เช่น ค่ายคุณธรรม ค่ายวิชาการ กิจกรรมวันสำคัญ การศึกษาแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่
2. ดำเนินการตามแผนการดำเนินงานโดยใช้กระบวนการ PLC และการนิเทศภายในเพื่อติดดตามการพัฒนาเป็นระยะ ๆ เพื่อพูดคุยกับกลุ่มหาแนวทางการพัฒนาต่อไป
ขั้นที่ 3 การสังเกต (Check)
1. สังเกตการณ์การดำเนินงานการจัดการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายตามที่วางแผนที่กำหนดไว้
2. สังเกตผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในการดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา
3. บันทึกและเก็บรวบรวมข้อมูลการปฏิบัติการ
ขั้นที่ 4 การสะท้อนผล (Act)
1. ประเมินผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา โดยใช้เครื่องมือ คือ การสนทนากลุ่มตามแนวทางกระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) การสังเกต การสัมภาษณ์ การแสดงผลงาน และการทดสอบ
2. สรุปและรายงานผลการดำเนินงานพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา
ผลการดำเนินงาน
จากการดำเนินงานพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา ของโรงเรียนบ้านโคกสีวิทยาเสริม พบว่า ครูผู้สอนทุกคนผ่านการอบรมการจัดการเรียนรู้ตามแนวพหุปัญญา หลักสูตร “อัฉริยะ 8 ด้าน” ครูผู้สอนได้รับรางวัลครูดีเด่นเนื่องในวันครู ปี 2566 จำนวน 1 คน ครูผู้สอนรางวัลนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ตามแนว Active Learning ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1 จำนวน 5 คน และรางวัลนวัตกรรมสร้างสรรค์คนดีโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.ระดับเขตตรวจราชการที่ 12 จำนวน 1 คน
นักเรียนมีผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2565 ผู้เรียนได้ระดับ ดี ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 100 นักเรียนผลการประเมินการผู้เรียนตามแนวพหุปัญญา ปีการศึกษา 2565 ผู้เรียนได้ระดับ ดี ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 95.16 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (RT) ปีการศึกษา 2565 สูงกว่าระดับประเทศทั้งสองด้าน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ปีการศึกษา 2565 คะแนนเฉลี่ยรวมทั้ง 2 ด้าน ปีการศึกษา 2565 สูงกว่า ปีการศึกษา 2564 นักเรียนชั้นประถมสึกาปีที่ 6 มีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2565 มีค่าเฉลี่ยรวม 4 วิชา สูงกว่าระดับประเทศ นักเรียนที่มีผลสอบ O-NET วิชาภาษาอังกฤษได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน จำนวน 1 คน
นักเรียนโรงเรียนบ้านโคกสีวิทยาเสริม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศวอลเลย์บอลหญิง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองเซปักตะกร้อหญิง ในการแข่งขันกีฬานักเรียน สพป.ขอนแก่น เขต 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อเสนอแนะ
1. ความพร้อมของครูผู้สอนและการพัฒนาตนเองของครูผู้สอนเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา ดังนั้นการวางแผนบริหารงานบุคลลและการวางแผนพัฒนาครูจึงต้องมีเป้าหมายชัดเจน เพื่อให้ครูผู้สอนมีความสามารถในการส่งเสริมการเรียนรู้ในทุกๆด้านตามทฤษฎีพหุปัญญา
2. ผู้บริหารจะต้องมีการนิเทศ กำกับติดตามด้วยวิธีการที่หลากหลายและต่อเนื่อง เพื่อให้การส่งเสริมการจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสนับสนุนด้านงาบประมาณและวัสดุครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
................................................