รายงานผลการจัดการศึกษาวิชาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา
การรายงานผลการจัดการศึกษาวิชาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 มีวัตถุประสงค์ เพื่อรายงานแนวทาง การจัดการศึกษาวิชาชีพ เพื่อรายงานผลการใช้แนวทางการจัดการศึกษาวิชาชีพ และเพื่อรายงานความพึงพอใจของการใช้แนวทางการจัดการศึกษาทักษะอาชีพ ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1
ผู้รายงานได้กำหนดขั้นตอนใน การดำเนินการ 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การรายงานแนวทางการจัดการศึกษาวิชาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 ขั้นตอนที่ 2 การรายงานผลการใช้แนวทางการจัดการศึกษาวิชาชีพ ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 ขั้นตอนที่ 3 การรายงานผลความพึงพอใจของการใช้แนวทาง การจัดการศึกษาวิชาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 ประชากรที่ใช้ในการเก็บข้อมูลในครั้งนี้ จำนวนทั้งหมด 84 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน หัวหน้างานวิชาการและครูผู้สอนวิชาชีพ ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา จำนวน 28 โรงเรียน เครื่องมือที่ใช้ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 แบบวิเคราะห์เอกสาร ฉบับที่ 2 แบบติดตามการใช้แนวทางการจัดการศึกษาวิชาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ฉบับที่ 3 แบบสอบถามความพึงพอใจของการใช้แนวทางการจัดการศึกษาวิชาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) การหาความถี่ การหาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการรายงานสรุปได้ ดังนี้
1. แนวทางการจัดการศึกษาวิชาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 พบว่า ปัจจุบันโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาได้ดำเนินการจัดการศึกษาวิชาชีพ ตามแนวทางส่งเสริมการจัดการศึกษาวิชาชีพระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1) ดำเนินการจัดการเรียนรู้วิชาชีพโดยสถานศึกษา 2) ดำเนินการจัดการเรียนรู้วิชาชีพโดยสถานศึกษาร่วมกับวิทยากรภายนอก/ภูมิปัญญาท้องถิ่น 3) ดำเนินการจัดการเรียนรู้วิชาชีพโดยสถานศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ และ 4) ดำเนินการจัดการเรียนรู้วิชาชีพโดยสถานศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาวิชาชีพของสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ซึ่งครอบคลุมฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายการจัดการเรียนรู้และฝ่ายนิเทศ ติดตามและประเมินผล มีการประชุมสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรครูเกี่ยวกับหลักสูตรและแผนปฏิบัติการของสถานศึกษา ให้แก่ ครู กับนักเรียนและบุคลากรการศึกษาในโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชน ในการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้วิชาชีพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โรงเรียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการภายในโรงเรียน กำกับ นิเทศ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้วิชาชีพระดับโรงเรียน มีการกำกับนิเทศ ติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเนื้อหาการนิเทศติดตามโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ทั้ง 28 โรงเรียน ประกอบด้วยข้อมูลด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของการดำเนินวิชาชีพของโรงเรียน มีการสรุปผลการดำเนินงานประจำปี ทบทวนปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยนำผลการกำกับนิเทศมาพัฒนางาน แก้ไขปัญหา อุปสรรค โดยบางโรงเรียนสรุปผลการดำเนินงานทุก ๆ สิ้นเดือนต่อผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมทั้งนำเสนอปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน เพื่อขอความคิดเห็นในที่ประชุม และมีการรายงานในที่ประชุมผู้ปกครอง ตลอดจนจัดส่งรายงานไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 เมื่อสิ้นปีการศึกษา โรงเรียนใช้แนวทางการจัดการศึกษาวิชาชีพ ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ในการขับเคลื่อนโครงการกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปี โดยจัดการเรียนรู้วิชาชีพตามหลักสูตร และแผนการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำโครงการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ และดำเนินงานตามโครงการ เช่น โรงเรียนมีการส่งเสริมให้นักเรียนมีวิชาชีพตามบริบทของชุมชน ตามอาชีพหลักของผู้ปกครองในพื้นที่เป็นหลัก โดยมีการพัฒนาวิชาชีพผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้กิจกรรมโครงการของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 มีการให้ภูมิปัญญา หรือวิทยากรชุมชนที่มีความรู้และความถนัดในด้านต่าง ๆ ที่โรงเรียนส่งเสริมมาจัดการเรียนรู้วิชาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา การจัดกิจกรรมส่งเสริมวิชาชีพได้คำนึงถึงวัย และระดับชั้นของนักเรียน เช่น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ทำขนมที่สามารถทำได้ง่าย เช่น บัวลอยไข่หวาน สาคู ขนมเทียน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ทำขนมหรืออาหารท้องถิ่น เช่น ผัดxxxดจอ ข้าวยาxxx้ การร้อยมาลัย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ทำเบเกอรี่ การเลี้ยงปลา การเชื่อมเหล็ก การจีบผ้า การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต จัดกิจกรรมช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง การทำอิฐบล็อกทางเดินให้เป็นโครงการ อิฐบล็อกลดขยะลดภาวะโลกร้อน
2. ผลการใช้แนวทางการจัดการศึกษาวิชาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 พบว่า กิจกรรมการเรียนรู้วิชาชีพ ที่โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ได้จัดกิจกรรมให้แก่นักเรียน ส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 ซึ่งทั้ง 28 โรงเรียน ได้เลือกใช้แนวทางการจัดการศึกษาวิชาชีพ โดยสถานศึกษาร่วมกับวิทยากรภายนอก/ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยสถานศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ ในส่วนการจัดการเรียนรู้วิชาชีพโดยสถานศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐและเอกชน เป็นแนวทางที่โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 เลือกใช้แนวทาง ดังกล่าวเป็นส่วนน้อย ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าการจัดการเรียนรู้วิชาชีพส่วนใหญ่เป็นงานช่าง โดยผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ด้านความรู้ นักเรียนได้เรียนรู้วิชาชีพ มีแนวทางนำไปต่อยอดในอนาคตต่อ ๆ ไป นักเรียนรู้วิธีการคำนวณ ค่าแรง ค่าวัสดุ การวางแผนทางการตลาด และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริง นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มวิชาการงานอาชีพเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 80 ได้รับความรู้และประสบการณ์ จากการไปแข่งขันทักษะวิชาชีพในระดับต่าง ๆ เช่น ระดับชาติ เป็นต้น มีความรู้พื้นฐานในด้านวิชาชีพมากขึ้น มีความเข้าใจในการดำเนินกิจกรรมด้านอาชีพต่าง ๆ สามารถประกอบอาชีพที่สุจริตและสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานที่เป็นระบบ มีขั้นตอน และมีประสิทธิภาพ ด้านทักษะ นักเรียนเกิดทักษะด้านอาชีพ มีรายได้ระหว่างเรียน เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้จากฐานของชุมชนสู่โรงเรียนมีผลผลิตของโครงการเกษตรนำสู่โครงการอาหารกลางวัน สามารถนำความรู้ที่ได้พัฒนาตนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต สามารถนำผลงานมาจัดแสดงให้บุคคลภายนอกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ มีทางเลือกในศึกษาต่อหรือการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสมตามความถนัดและความสนใจของตนเอง นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน มีกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะด้านอาชีพ จากผลสำเร็จของโครงการ 1 ครู 1 อาชีพ 1 นวัตกรรม ได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีทักษะกระบวนการคิด มีกระบวนการในการทำงาน การเป็นผู้นำและผู้ตาม สามารถแก้ปัญหา และรู้จักแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองเกิดทักษะในการจำหน่ายสินค้า สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานและการจำหน่ายผลผลิต และด้านทัศนคติ นักเรียนมีคุณลักษณะที่ดีในการทำงานเกิดความภาคภูมิใจผลการทำงานของตนเอง ที่สามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน มีความอดทน และพัฒนางานของตนเองจนประสบความสำเร็จ มีความรับผิดชอบต่องานส่วนตัวและส่วนรวม เห็นคุณค่าของตนเอง และผู้อื่น ตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานและการทำงานร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้อย่างมีความสุข ผู้ปกครองให้การยอมรับตัวนักเรียน โรงเรียน และวิชาชีพที่นักเรียนปฏิบัติ
3. ระดับความพึงพอใจ ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการและด้านผลผลิตของบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวทางการจัดการศึกษาวิชาชีพ ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 3.94 เมื่อจำแนกเป็นรายข้อพบว่า อยู่ในระดับมากทุกข้อ ด้านปัจจัยเบื้องต้น อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ 4.01 รองลงมาคือ ด้านผลผลิต อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 3.95 และด้านกระบวนการ อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ 3.90