การพัฒนารูปแบบการบริหารวิชาการโดยใช้หลักภาวะผู้นำ
ผู้วิจัย กานต์มณี หนองแสง
สถานศึกษา โรงเรียนเมืองพัทยา 3 (วัดสว่างฟ้าพฤฒาราม) สังกัดเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
ปีการศึกษา 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา 2) สร้างรูปแบบการบริหารวิชาการโดยใช้หลักภาวะผู้นำร่วมกับแนวคิดการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา 3) ทดลองใช้รูปแบบการบริหารวิชาการโดยใช้หลักภาวะผู้นำร่วมกับแนวคิดการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา และ 4) ประเมินรูปแบบการบริหารวิชาการโดยใช้หลักภาวะผู้นำร่วมกับแนวคิดการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ผู้บริหารและครู โรงเรียนเมืองพัทยา 3 (วัดสว่างฟ้าพฤฒาราม) จำนวน 60 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 91 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารวิชาการเพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษ นักเรียนโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา แบบสอบถามเพื่อประเมินรูปแบบการบริหารวิชาการ โดยใช้หลักภาวะผู้นำร่วมกับแนวคิดการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา แบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบการบริหารวิชาการ โดยใช้หลักภาวะผู้นำร่วมกับแนวคิดการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา แบบสอบถามความพึงพอใจของครูที่มีต่อรูปแบบการบริหารวิชาการ โดยใช้หลักภาวะผู้นำร่วมกับแนวคิดการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเฉลี่ยร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัยพบว่า
1. ประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียน การรับรู้และการเรียนรู้ภาษาอังกฤษนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มิได้เป็นเพียงสื่อกลางในการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญและเป็นบันไดนำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
2. รูปแบบการบริหารวิชาการ โดยใช้หลักภาวะผู้นำร่วมกับแนวคิดการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา ที่สร้างขึ้นชื่อว่า CDFE Model มีองค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่ 1) รวมพลัง (Combine : C) 2) สร้างสรรค์พัฒนา (Development : D) 3) ค้นหาติดตาม (Follow : F) 4) สอบถามการประเมิน (Evaluate : E)
3. การทดลองใช้รูปแบบการบริหารวิชาการ โดยใช้หลักภาวะผู้นำร่วมกับแนวคิดการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา พบว่า รูปแบบมีประสิทธิผลภาพรวมอยู่ในระดับมาก และบุคลากรครูมีความพึงพอใจต่อรูปแบบฯ ภาพรวมอยู่ในระดับมาก
4. การประเมินรูปแบบการบริหารวิชาการ โดยใช้หลักภาวะผู้นำร่วมกับแนวคิดการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา พบว่า รูปแบบมีความเหมาะสมและเป็นไปได้ภาพรวมอยู่ในระดับมาก