การวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์
เทศบาลวัดกลาง สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น
ผู้วิจัย เยาวพา จันทร์สาเทพ
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง 2) ศึกษาผลการจัดการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง และ 3) ศึกษาความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการแบบเปิดที่พัฒนาการรู้เรื่องคณิตศาสตร์ เรื่อง หลักการนับเบื้องต้น ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง โดยกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 30 คน ของโรงเรียนเทศบาลวัดกลาง สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนตามวงจร PAOR จำนวน 3 วงจรปฏิบัติการ ใช้เวลาทั้งหมด 12 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ ใบกิจกรรม แบบสังเกตการจัดการเรียนรู้ อนุทินสะท้อนความคิดเห็น และแบบทดสอบการรู้เรื่องคณิตศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหาและการวิเคราะห์แบบแยกประเด็น และตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้าด้านแหล่งข้อมูล
ผลการวิจัยพบว่า
1. แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) นำเสนอปัญหา 2) เรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน 3) อภิปรายทั้งชั้นและการเปรียบเทียบ และ 4) สรุปโดยการเชื่อมโยงแนวคิดของนักเรียนที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน มีประเด็นที่ควรเน้น ได้แก่ การออกแบบสถานการณ์ปัญหาในชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับวัยของนักเรียน การทบทวนความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาในสถานการณ์ชีวิตจริง การทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาในบริบทที่มีอยู่ในชีวิตจริงก่อนแล้วจึงมองปัญหาตามแนวคิดทางคณิตศาสตร์ การประยุกต์ใช้แนวคิดทางคณิตศาสตร์สู่สถานการณ์ใหม่ การกระตุ้นให้นักเรียนทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ และการสะท้อนผลหลังการจัดการเรียนรู้
2. นักเรียนส่วนใหญ่มีการรู้เรื่องคณิตศาสตร์ในระดับดี กล่าวคือ 1) นักเรียนสามารถระบุประเด็นทางคณิตศาสตร์ของปัญหาในชีวิตจริงได้อย่างถูกต้อง สมบูรณ์ และนำเสนอสถานการณ์โดยใช้ตัวแปร สัญลักษณ์ แผนภาพให้อยู่ในรูปอย่างง่ายได้อย่างถูกต้องบางส่วน 2) นักเรียนเลือกวิธีการที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับปัญหา และนำวิธีการแก้ปัญหาไปใช้ได้อย่างถูกต้อง แต่การแสดงลำดับขั้นตอนของการแก้ปัญหายังไม่ซัดเจน และสรุปคำตอบได้ถูกต้องบางส่วนและ 3) นักเรียนสามารถตีความผลลัพธ์ได้ถูกต้องและอธิบายความสมเหตุสมผลของวิธีการได้
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดกลางที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการแบบเปิดที่พัฒนาการรู้เรื่องคณิตศาสตร์ เรื่อง หลักการนับเบื้องต้น โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาโดยลำดับค่าเฉลี่ย พบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดการเรียนรู้ รองลงมา คือ ด้านการจัดการเรียนรู้แบบเปิด และด้านบรรยากาศในการจัดการเรียนรู้ ตามลำดับ