การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้าง...
ผู้วิจัย จุฑาทิพย์ สายสี
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
หน่วยงาน โรงเรียนพิบูลมังสาหาร สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ปี พ.ศ. 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2) พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 3) ทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ 4) ประเมินผลรูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/4 โรงเรียนพิบูลมังสาหาร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 40 คน ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบสำรวจวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน 2) แบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ 3) แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 4) แบบประเมินการปฏิบัติงาน 5) แบบทดสอบวัดมโนทัศน์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test แบบ Dependent Sample และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานพบว่า นักเรียนมีความสนใจในการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ตามรูปแบบที่ได้สร้างขึ้น เนื่องจากนักเรียนต้องการศึกษาด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ผู้เชี่ยวชาญการสอนวิชาคณิตศาสตร์เห็นด้วยกับรูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะนำมาพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหานักเรียนไม่สนใจในการเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
2. ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้รูปแบบกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นมีชื่อเรียกว่า “RMREAA Model” โดยรูปแบบมี 6 องค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ สาระการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และ สิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ ประกอบด้วย ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และสิ่งสนับสนุน สำหรับกระบวนการจัดกิจกรรมรูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา มีขั้นตอนดังนี้ 1) ขั้นตรวจสอบความรู้เดิม (Reviewing Knowledge : R) 2) ขั้นกระตุ้นจูงใจ (Motivating : M) 3) ขั้นปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ (Restructuring of concepts : R) 4) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Exchanging : E) 5) ขั้นนำมโนทัศน์ไปใช้ (Applying of concepts : A) 6) ขั้นการประเมิน (Assessmenting : A) การวัดและประเมินผล 2 ด้าน คือ ด้านมโนทัศน์ทางคณิตศาสตร์ และด้านความสามารถในการคิดแก้ปัญหา
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า นักเรียนมีความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียน ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรมเป็นอย่างดี
4. ผลการประเมินรูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า 1) ผลการเรียนรู้ด้านความเข้าใจมโนทัศน์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ผลการเรียนรู้ด้านความสามารถในการคิดแก้ปัญหาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 3) ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ อยู่ในระดับมาก