การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ี 21 รายวิชาศิลปะ(นาฏศิลป์)
นวัตกรรมด้วยโปรแกรมดิจิทัลสำหรับการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
ผู้ศึกษา นางภัสสร โนนทิง
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต3
ปีการศึกษา 2566
บทคัดย่อ
การวิจัยศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาทักษะการปฏิบัติภาษาท่าทางนาฏศิลป์ของนักเรียน (2) ศึกษาเจตคติของนักเรียนที่มีต่อรายวิชาศิลปะ(นาฏศิลป์) กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านศรีเมือง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 3 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 12 คน โดยการสุ่มแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะการปฏิบัติภาษาท่าทางนาฏศิลป์ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้สื่อนวัตกรรมด้วยโปรแกรมดิจิทัลสำหรับการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 รายวิชาศิลปะ(นาฏศิลป์) หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 นาฏศิลป์ไทย มรดกไทย เรื่อง นาฏศิลป์เบื้องต้น(ภาษาท่าที่ใช้แสดงอารมณ์ภายใน) เวลา 1 ชั่วโมง จำนวน 1 ฉบับ 2) แบบประเมินทักษะการปฏิบัติภาษาท่านาฏศิลป์ไทย ซึ่งเป็นแบบมาตรประมาณค่า 3 ระดับ จำนวน 5 ข้อ และกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนเป็นแบบ (Scoring Rubric) 3) แบบประเมินเจตคติของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อรายวิชาศิลปะ(นาฏศิลป์) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย
ผลการวิจัยพบว่า (1) การพัฒนาทักษะการปฏิบัติภาษาท่าทางนาฏศิลป์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้สื่อนวัตกรรมด้วยโปรแกรมดิจิทัลสำหรับการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในภาพรวมพบว่า นักเรียนมีคะแนนทักษะการปฏิบัติเฉลี่ย ในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 86.67 และมีจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 83.33 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (2) เจตคติที่มีต่อรายวิชาศิลปะ(นาฏศิลป์) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่า ผลการประเมินภาพรวมอยู่ในระดับมาก คิดเป็นค่าเฉลี่ย 3.53 ข้อที่มีคะแนนสูงสุดคือข้อที่ 4 และ8 คิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.75 และข้อที่มีคะแนนน้อยที่สุดคือข้อที่ 5 และ6 คิดเป็นค่าเฉลี่ย 2.00
คำสำคัญ ภาษาท่าทางนาฏศิลป์ไทย สื่อนวัตกรรม การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21