การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน
ผู้วิจัย นายสิรพัชญ์ สิรไชยพัฒน์
สังกัด โรงเรียนพิบูลมังสาหาร สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ปีที่วิจัย 2565
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน รับรองรูปแบบและศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 45 คน ซึ่งเป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย โดยใช้แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม รูปแบบการจัดการเรียนรู้ คู่มือการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ และแบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาและใช้สถิติเชิงพรรณนา ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าทีในการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการสำรวจปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนไม่ชอบคิด ขาดทักษะทางคณิตศาสตร์ ไม่มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เร้าใจ นักเรียนสนใจและอยากเรียนรู้ตามกระบวนการการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน เรื่อง พีระมิด กรวย และทรงกลม อยากให้ส่งเสริมความสามารถด้านการคิดอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มี 5 องค์ประกอบ คือ 1) วัตถุประสงค์ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 2) ทฤษฎีพื้นฐานและหลักการของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ ตามขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน แบบ PADS Model ได้แก่ 3.1) ขั้นนำ 3.2) ขั้นกิจกรรม 3.3) ขั้นอภิปราย และ 3.4) ขั้นสรุป และ 4) การประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ซึ่งผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการจัดประสบการณ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.28, S.D. = 0.61)
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า
3.1 ประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ตามขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน แบบ PADS Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้ มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 85.07/85.44 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80
3.2 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการจัดการเรียนรู้สูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.3 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์หลังการจัดการเรียนรู้สูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า โดยรวมมีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.27, S.D. = 0.64)