การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไอพาวี (IPAV Model)
ความหมายทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางยุภา เทพพรหม
ปีที่วิจัย 2564 - 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานของการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไอพาวี (IPAV Model) 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไอพาวี (IPAV Model) 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไอพาวี (IPAV Model) และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไอพาวี (IPAV Model)
วิธีดำเนินการวิจัยนี้ แบ่งขั้นตอนการดำเนินการวิจัยเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานโดยการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนารูปแบบ ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนารูปแบบโดยการยกร่างองค์ประกอบของรูปแบบและตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบ ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบโดยการนำรูปแบบที่ผ่านการหาคุณภาพและปรับปรุงแล้ว ไปใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ของโรงเรียนบ้านกะลาพอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 3 จำนวน 26 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบเป็นการประเมินผลของรูปแบบ เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ 1) แบบสอบถาม 2) แบบสัมภาษณ์ 3) แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม 4) แผนการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นตามรูปแบบ 5) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา และวิเคราะห์การคำนวณหาประสิทธิภาพ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า สภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมทักษะการให้เหตุผลและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ ตามความคิดเห็นของครู อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านหลักการและวิธีดำเนินการเรียนรู้ มีปัญหาอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลือกโจทย์ปัญหาที่น่าสนใจมาให้นักเรียนฝึกฝนอย่างหลากหลาย รองลงมาคือ ด้านเทคนิคการจัดการเรียนรู้ และด้านการประเมินผล การเรียนรู้ ตามลำดับ จากการสอบถามความต้องการของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีความต้องการให้มีการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไอพาวี (IPAV Model) เพื่อส่งเสริมทักษะการให้เหตุผลและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ ในระดับมาก
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไอพาวี (IPAV Model) เพื่อส่งเสริมทักษะการให้เหตุผลและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีองค์ประกอบของรูปแบบ 4 องค์ประกอบ คือ หลักการของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ และการวัดและการประเมินผล ผลการตรวจสอบความเหมาะสมตามความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด และผลการศึกษาประสิทธิภาพกับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ในปีการศึกษา 2564 เท่ากับ 77.75/76.67 ถือว่ามีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 75/75
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบประเด็นสรุปได้ ดังนี้
3.1 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไอพาวี (IPAV Model) เพื่อส่งเสริมทักษะการให้เหตุผลและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน คิดเป็นร้อยละการพัฒนา 32.16
3.2 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไอพาวี (IPAV Model) เพื่อส่งเสริมทักษะการให้เหตุผลและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ มีคะแนนผลการประเมินทักษะการให้เหตุผลและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ โดยรวมอยู่ในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 80.98
4. ผลการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบประเด็นสรุปได้ ดังนี้
4.1 รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไอพาวี (IPAV Model) เพื่อส่งเสริมทักษะการให้เหตุผลและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีมาตรฐานความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความถูกต้อง ในระดับมากที่สุด
4.2 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไอพาวี (IPAV Model) เพื่อส่งเสริมทักษะการให้เหตุผลและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ อยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด ค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.52 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.60