ผลงานนวัตกรรม "lab วิทย์ คิดกับ PhET.colorado"
https://www.facebook.com/photo?fbid=807122607872971&set=pcb.807123201206245
หรือทางเว็บไซต์ www.kpd.ac.th
ชื่อผลงาน/นวัตกรรม Lab วิทย์ คิดกับ PhET.colorado
1. ความสำคัญของผลงานหรือนวัตกรรม
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนบ้านโคกพนมดี จึงมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาความรู้แบบบูรณาการ เน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถนำองค์ความรู้มาเชื่อมโยงกันในแต่ละสาระการเรียนรู้นำไปสู่การประยุกต์ใช้ได้จริง นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถสังเคราะห์องค์ความรู้ออกมาในรูปแบบต่างๆได้ ประกอบกับในปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีมากขึ้น ส่งผลให้การจัดการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเสมอไป โดยเฉพาะการเรียนวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสาระการเรียนรู้ที่มีรายละเอียดมาก และต้องมีการฝึกปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงได้มีการจำลองห้องปฏิบัติการทดลองเสมือนจริงเกิดขึ้น โดยห้องปฏิบัติการทดลองเสมือนจริงเป็นห้องปฏิบัติการทดลองที่มีสภาพแวดล้อมที่จำเป็น และมีคุณภาพเช่นเดียวกับห้องเรียนหรือห้องปฏิบัติการทดลองจริงทุกประการอีกทั้งการทดลองบางประการมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และอันตรายที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมีแนวคิดในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำและการเรียนรู้เชิงรุก(Active Learning) โดยการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้การทดลองวิทยาศาสตร์ที่ผสมผสานกับการเรียนผ่านแบบจำลองการเรียนรู้บทเรียนแบบ simulation ที่เว็บไซต์ https://phet.colorado.edu/th/ โดยข้าพเจ้านำไปใช้ในการเรียนการสอนและผู้เรียนใช้ในการเรียนรู้ทบทวนด้วยตนเองช่วยเสริมประสบการณ์ในการเรียนรู้ ในเว็บไซต์จะมีแบบจำลองของบทเรียนออกมาเป็นลักษณะ visual animation graphic เพื่อเป็นสื่อในการเรียนรู้ได้ชัดเจนขึ้น โดยในแบบจำลองการเรียนรู้แต่ละแบบ ผู้เรียนสามารถปรับแต่งค่าเพื่อทำการทดลองได้ด้วยตนเองและเห็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงได้ทันที ซึ่งในทางทฤษฎีนั้นบทเรียนบางอย่างมีข้อจำกัดไม่สามารถจำลองหรือทดสอบแบบจริงๆได้ หรือไม่สามารถทำซ้ำๆได้หลายครั้ง รวมถึงไม่มีภาพให้เห็นได้ชัดเจน ทั้งจากการทดลองภาคสนามจริง เช่น การเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้า เป็นต้น ข้าพเจ้าพบว่าแบบจำลองเพื่อช่วยในการเรียนการสอนดังกล่าวมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในเนื้อหาบทเรียนได้เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยในการเรียนรู้ ช่วยเพิ่มจำนวนครั้งในการทดลอง ลดงบประมาณและลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการทดลองด้วย
2. จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
2.1 จุดประสงค์
2.1.1 เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะในศตวรรษที่ 21 ในการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจ โดยใช้ข้อมูลหลากหลายและประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้
2.1.2 เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้สูงสุดผ่านเว็บไซต์ https://phet.colorado.edu/th/
2.1.3 เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่เรียนอย่างแท้จริงโดยการให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยอาศัยความร่วมมือจากกลุ่ม
2.1.4 เพื่อพัฒนาพฤติกรรมการกล้าแสดงออกและนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าเผยแพร่ในวงกว้าง ทั้งภายในสถานศึกษาและชุมชนภายนอก
2.2 เป้าหมาย
เชิงปริมาณ
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 24 คน ได้ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดยใช้เว็บไซต์ https://phet.colorado.edu/th/
เชิงคุณภาพ
นักเรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะในศตวรรษที่ 21 ในการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลหลากหลายและประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้