การพัฒนารูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวคิด Active Learning
ผู้วิจัย นางสาวภัชริญา วรรณอ่อน
หน่วยงาน โรงเรียนบัวงามวิทยา
สังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ปีที่พิมพ์ 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวคิด Active Learning เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียน และ4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบัวงามวิทยา ตำบลบัวงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 32 คน จาก 4 ห้องเรียน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบสอบถามข้อมูลพื้นฐาน 2) แบบสัมภาษณ์ 3) รูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวคิด Active Learning ได้ค่าความเหมาะสม 4.82 ถึง 5.00 4) แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวคิด Active Learning จำนวน 5 แผน แผนละ 2 ชั่วโมง รวมเป็น 10 ชั่วโมง ได้ค่าความเหมาะสม 4.86 ถึง 4.93 5) แบบทดสอบวัดความสามารถด้านการเขียนภาษาอังกฤษ จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากง่าย 0.38 ถึง 0.65 ค่าอำนาจจำแนก 0.24 ถึง 0.65 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.94 และ6) แบบสอบถามความพึงพอใจ แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก 0.44 ถึง 0.84 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.91 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานใช้ t-test (dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า นักเรียนต้องการที่จะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้านการเขียนมากที่สุด ในขณะที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้านการพูดน้อยที่สุด นักเรียนชอบรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning มากที่สุด นักเรียนชอบการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคจิกซอว์น้อยที่สุด นักเรียนต้องการเรียนจากเหตุการณ์รอบตัวมากที่สุด ในขณะที่นักเรียนมีความชอบบทร้อยกรองง่ายๆ น้อยที่สุด นักเรียนต้องการเรียนด้วยสื่อแบบฝึกทักษะมากที่สุด และต้องการเรียนด้วย PowerPoint น้อยที่สุด นักเรียนรู้สึกชอบและภาคภูมิใจในกิจกรรมการเรียนและศึกษาด้วยตนเองมากที่สุด ในขณะที่ชอบการส่งสมุดงานน้อยที่สุด จากการสัมภาษณ์ครูผู้มีประสบการณ์ในด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ สรุปได้ว่านักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีปัญหาการเรียนวิชาภาษาอังกฤษในทักษะการเขียนค่อนข้างสูง โดยนักเรียนบางคนขาดความรู้ความเข้าใจในวิชาภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ทำให้เกิดความท้อแท้และเบื่อหน่ายในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษเรื่อยมา การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่านักเรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ และถือว่านักเรียนมีความสำคัญที่สุด นอกจากนี้แบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษเป็นสื่อที่ส่งเสริมนักเรียนสามารถฝึกเขียนได้อย่างสะดวกสบาย นักเรียนสามารถศึกษาและปฏิบัติเองได้
2. ผลการพัฒนารูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวคิด Active Learning เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยรูปแบบการเรียนการสอนมีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา กระบวนการกิจกรรม สิ่งที่เสริมการเรียนรู้ ได้แก่ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และสิ่งสนับสนุน สำหรับกระบวนการจัดกิจกรรมตามรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวคิด Active Learning มี 4 ขั้นตอนดังนี้ 1) ขั้นกระตุ้นความสนใจ (Do now) 2) ขั้นฝึกการเขียน (Writing mode) 3) ขั้นการเขียนแบบชี้แนะ (Guided writing) และ 4) ขั้นสะท้อนเรียน (Reflective learning) ผลการประเมินคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญ มีความคิดเห็นต่อรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวคิด Active Learning เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยรวมมีเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( =4.95) และรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวคิด Active Learning มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 76.95/75.89 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวคิด Active Learning เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่านักเรียนมีความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียน ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรมเป็นอย่างดี และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05
4. ผลการประเมินผลรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวคิด Active Learning เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวคิด Active Learning เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( =4. 64) และจากการปรับปรุงรูปแบบการสอน ตามข้อคิดเห็นของนักเรียนและข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ ทำให้รูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวคิด Active Learning เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความสมบูรณ์และนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น