การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน
อาหารเพื่อสุขภาพเสริมภูมิคุ้มกันต้านโควิด เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและ
ความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผลของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นางปวีร์ คำแหง
ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล ๑ (กบินทร์ราษฎรอำรุง)
ปีที่พิมพ์ 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพเสริมภูมิคุ้มกันต้านโควิด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเครื่องมือสอนคิดโดยใช้โครงงานเป็นฐาน 2) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผลของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเครื่องมือสอนคิดโดยใช้โครงงานเป็นฐาน 3) ศึกษาความสามารถในการทำโครงงานของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเครื่องมือสอนคิดโดยใช้โครงงานเป็นฐาน และ 4) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเครื่องมือสอนคิดโดยใช้โครงงานเป็นฐาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนเทศบาล ๑ (กบินทร์ราษฎรอำรุง) จำนวน 35 คนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้เรื่องอาหารเพื่อสุขภาพเสริมภูมิคุ้มกันต้านโควิดด้วยการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเครื่องมือสอนคิดโดยใช้โครงงานเป็นฐาน จำนวน 8 แผน 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผล 4) แบบประเมินความสามารถในการทำโครงงานและ 5) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนของชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเครื่องมือสอนคิดโดยใช้โครงงานเป็นฐาน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าทีแบบไม่เป็นอิสระต่อกันและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพเสริมภูมิคุ้มกันต้านโควิด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเครื่องมือสอนคิดโดยใช้โครงงานเป็นฐาน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2) ความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผลของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเครื่องมือสอนคิดโดยใช้โครงงานเป็นฐาน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3) ความสามารถในการทำโครงงานของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเครื่องมือสอนคิดโดยใช้โครงงานเป็นฐาน อยู่ในระดับสูง
4) ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเครื่องมือสอนคิดโดยใช้โครงงานเป็นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก