การพัฒนาชุดแบบฝึกทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรม
ผู้วิจัย : ศิรินทร์วรรณ พันธ์วงค์
ปีที่ทำการวิจัย : 2566
คำสำคัญ : การอ่านเชิงวิเคราะห์, วรรณคดีและวรรณกรรม, กระบวนการ GPAS 5 Steps
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของชุดแบบฝึกทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมด้วยกระบวนการ GPAS 5 Steps สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้เกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดแบบฝึกทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมด้วยกระบวนการ GPAS 5 Steps สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 3) เพื่อสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้ชุดแบบฝึกทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมด้วยกระบวนการ GPAS 5 Steps สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 30 คน โรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพะเยา ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) ชุดแบบฝึกทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมด้วยกระบวนการ GPAS 5 Steps สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 5 ชุด 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่องการอ่าน เชิงวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ 3) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้ชุดแบบฝึกทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมด้วยกระบวนการ GPAS 5 Steps สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 4) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่องการอ่านเชิงวิเคราะห์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าทีชนิดกลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระจากกัน ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของชุดแบบฝึกทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมด้วยกระบวนการ GPAS 5 Steps สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยภาพรวมมีค่า E1/E2 เท่ากับ 84.53/86.33 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. ผลการเปรียบเทียบคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดแบบฝึกทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมด้วยกระบวนการ GPAS 5 Steps สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยค่าเฉลี่ยคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะ (x= 25.90, S.D. = 1.52) สูงกว่าก่อนเรียนด้วยแบบฝึกทักษะ ( x= 14.33 , S.D. = 1.73) แสดงว่านักเรียนมีพัฒนาการและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นจริง
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดแบบฝึกทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมด้วยกระบวนการ GPAS 5 Steps สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยภาพรวม มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (x= 4.59, S.D. = 0.61)
ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ชุดแบบฝึกทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมด้วยกระบวนการ GPAS 5 Steps สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ของผู้เรียนได้ และผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการใช้ชุดแบบฝึกทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมด้วยกระบวนการ GPAS 5 Steps สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อยู่ในระดับมากที่สุด