การพัฒนารูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุก
การวิจัยการพัฒนารูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดให้เหตุผลและการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดให้เหตุผลและการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 2) เพื่อศึกษาผลการพัฒนารูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดให้เหตุผลและการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิจัยในครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนน้ำขุ่นวิทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 35 คน ที่ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนจัดการเรียนรู้ใช้เวลาแผนละ 1 ชั่วโมง จำนวน 15 แผน 2) แบบทดสอบความสามารถด้านการคิดอย่างมีเหตุผล จำนวน 5 ข้อ 3) แบบทดสอบความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ จำนวน 5 ข้อ และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t-test (Dependent Samples)
ผลการวิจัยปรากฏผลดังนี้
1. รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีชื่อเรียกว่า “PAKAS Model” โดยมีองค์ประกอบ 6 องค์ประกอบ ดังนี้ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สาระความรู้และทักษะความสามารถ สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และสิ่งสนับสนุนรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีกระบวนการเรียนการสอน 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ขั้นนำเสนอ (Presentation) ขั้นที่ 2 ขั้นดำเนินกิจกรรม (Activities) ขั้นที่ 3 ขั้นสร้างองค์ความรู้ (knowledge building) ขั้นที่ 4 ขั้นประยุกต์ใช้ (applied) และขั้นที่ 5 ขั้นสรุป (Summary) ตรวจสอบความสอดคล้องของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการเรียนการสอนมีความสอดคล้องกัน (IOC = 0.80 -1.00) และเมื่อนำไปหาประสิทธิภาพ (E1/E2) กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/1 โรงเรียนน้ำขุ่นวิทยา จำนวน 35 คน ได้ค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอน เท่ากับ 78.89/76.26 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 75/75
2. ความสามารถด้านการคิดอย่างมีเหตุผลของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดให้เหตุผลและการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
3. ความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดให้เหตุผลและการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดให้เหตุผลและการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนความพึงพอใจรายด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านกิจกรรมการเรียนการสอนที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์และแสวงหาข้อมูลจากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ผู้เรียนเรียนรู้จากการปฏิบัติการคิดด้วยตนเองและร่วมกันเรียนรู้กับผู้อื่น มีการเรียงเนื้อหาและกิจกรรมได้อย่างเหมาะสมและสรุปความรู้ เชื่อมโยงนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้