การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างต่อเนื่องวันละนิด ด้วยแนวคิดแบบไคเซ็น
การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างต่อเนื่องวันละนิด ด้วยแนวคิดแบบไคเซ็น (KAIZEN) ของโรงเรียนบ้านระกา (สำนักงานสลากกินแบ่งสงเคราะห์ 74) ในครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงทดลอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แนวคิดแบบไคเซ็น (Kaizen) 1) เพื่อพัฒนานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ให้มีผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test : RT) สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 2) เพื่อพัฒนานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีผลการประเมินคุณภาพผู้เรียนระดับประเทศ (National Test : NT) สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 3) เพื่อพัฒนานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับประเทศขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET) สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับ ประเทศ โดยมีเป้าหมายเชิงปริมาณคือร้อยละ 80 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1, 3 และ 6 มีผลการทดสอบทางการศึกษาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ และในเชิงคุณภาพคือเพื่อนำแนวคิดแบบไคเซ็น (KAIZEN) มาใช้ในการวางแผนและปรับปรุงข้อบกพร่องผลการทดสอบนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1, 3 และ 6 ให้สามารถพัฒนาผลการทดสอบทางการศึกษาได้เต็มศักยภาพ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการดำเนินการครั้งนี้ ประกอบด้วยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 – 2565 จำนวน 43 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 – 2565 จำนวน 33 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 – 2565 จำนวน 36 คน เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการโดยได้นำแนวคิดแบบไคเซ็น (KAIZEN) มาเป็นหลักในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยมีขั้นตอนการดำเนินการตามแนวทางวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (PDCA) ประกอบด้วย 1) PLAN (การวางแผน) มีแนวปฏิบัติเพื่อดำเนินการตามแนวคิดแบบไคเซ็น (KAIZEN) จำนวน 3 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ค้นหาปัญหาหรือประเด็นเพื่อกำหนดรายการที่ต้องการไคเซ็น ขั้นที่ 2 วิเคราะห์สภาพปัจจุบันของปัญหาหรือประเด็นที่ต้องการไคเซ็น และขั้นที่ 3 วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาหรือประเด็นที่ต้องการไคเซ็น 2) DO (ปฏิบัติ) ประกอบด้วยแนวปฏิบัติในการดำเนินการตามแนวคิดแบบไคเซ็น (KAIZEN) จำนวน 3 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 4 กำหนดวิธีการแก้ปัญหาหรือสร้างแผนกิจกรรมไคเซ็น ขั้นที่ 5 ระบบวิธีการใหม่ (ระบุผู้รับผิดชอบ/วิธีปฏิบัติ) และขั้นที่ 6 ลงมือดำเนินการ 3) CHECK (ตรวจสอบ) ประกอบด้วยแนวปฏิบัติในการดำเนินการตามแนวคิดแบบไคเซ็น (KAIZEN) จำนวน 1 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 7 ตรวจสอบผลงาน และ 4) ACTION (ปรับปรุง) ประกอบด้วยแนวปฏิบัติในการดำเนินการตามแนวคิดแบบไคเซ็น (KAIZEN) จำนวน 1 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 8 ตรวจสอบผลกระทบเพื่อรักษาสภาพที่แก้ไขแล้ว
ผลการดำเนินการ พบว่า
1. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test : RT) สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 นอกจากนี้ยังพบว่าในปีการศึกษา 2564 เด็กชายกฤตพัฒน์ ถะเกิงสุข มีผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (RT) ได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน และในปีการศึกษา 2565 เด็กหญิงปุณณภา หอมขจร มีผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (RT) ได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีผลการประเมินคุณภาพผู้เรียนระดับประเทศ (National Test : NT) สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กชายณัฐนันท์ ลำมะณีย์ เด็กชายธนวัฒน์ บุญชาติ และเด็กหญิงณัชชานันท์ เขาแก้ว มีผลการประเมินคุณภาพผู้เรียนระดับประเทศ (NT) ปีการศึกษา 2565 รายวิชาคณิตศาสตร์ ได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับประเทศขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET) สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565