การปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) การยกระดับผลสัมฤทธิ์
โรงเรียน วังเหนือวิทยา สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาลำปาง ลำพูน
ชื่อเรื่องวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning ตามแนวความคิด ARCS MODEL ด้วยสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล
๑. ความสำคัญและความสำคัญ
ปัจจุบันภาษาต่างประเทศมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการติดต่อสื่อสารในด้านต่างๆ อาทิ ธุรกิจระหว่างประเทศ การศึกษา และการท่องเที่ยว ประเทศไทยได้ถูกยกย่องให้เป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยวอันดับต้นของอาเซียน ทำให้ภาษาต่างประเทศที่สองมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดภาษาต่างประเทศเป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐานซึ่งกำหนดให้เรียนตลอดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ ภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาต่างประเทศอื่นเช่น ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น และภาษากลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน หรือภาษาอื่นๆ ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถานศึกษา ดังนั้นครูผู้สอนต้องการ จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการนำเอาภาษาต่างประเทศที่สองมาปรับใช้ โดยการนำเอากิจวัตรประจำวันต่างๆ มาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การฝึกภาษาจากกิจกรรมที่ได้ลงมือทำด้วยตนเองเป็นประจำ ผู้เรียนมีโอกาสได้ยิน ได้เห็น และได้ใช้ในกิจวัตรประจำวัน สามารถพบเห็นอยู่รอบตัวเป็นประจำ ไม่ต้องท่องจำ ไม่รู้สึกเป็นบทเรียนเหมือนภาษาที่พบในตำราแต่สามารถเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ทั้งด้านภาษาและชีวิตของผู้เรียนเองได้
จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาภาษาญี่ปุ่นที่ผ่านมา ได้พบปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖/๕ กลุ่มการเรียนภาษาญี่ปุ่น โรงเรียนวังเหนือวิทยา คือ นักเรียนกลุ่มหนึ่งยังขาดความมั่นใจในการพูดภาษาญี่ปุ่น ทำให้ความสามารถในทักษะภาษาด้านอื่นๆของนักเรียนลดลง และส่งผลถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นลดลงอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่น ครูผู้สอนจึงได้นำรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ตามทฤษฎี ARCS MODEL ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เกี่ยวกับการเร้าความสนใจ ความรู้สึกเกี่ยวพันกับเนื้อหา ความมั่นใจและพึงพอใจของนักเรียน โดยการใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัล มาปรับใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจแก่นักเรียน และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นสื่อสาร ๕ ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖/๕ กลุ่มการเรียนภาษาญี่ปุ่น โรงเรียนวังเหนือวิทยา
๒. วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
๒.๑ วัตถุประสงค์
๒.๑.๑ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นสื่อสาร ๕ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ ๖/๕ กลุ่มการเรียนภาษาญี่ปุ่น โรงเรียนวังเหนือวิทยา จำนวน ๑๔ คน
๒.๑.๒ เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียน และสร้างเจตคติที่ดีให้แก่นักเรียนให้ได้เห็นถึงความสำคัญของภาษาญี่ปุ่นสู่การพัฒนาต่อยอดในอนาคต
๒.๒ เป้าหมาย
๒.๒.๑ เชิงปริมาณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖/๕ กลุ่มการเรียนภาษาญี่ปุ่น โรงเรียนวังเหนือวิทยา จำนวน ๑๔ คน ได้ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำและการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้โดยใช้ทฤษฎี ARCS MODEL ด้วยสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล
๒.๒.๒ เชิงคุณภาพ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖/๕ กลุ่มการเรียนภาษาญี่ปุ่น โรงเรียนวังเหนือวิทยา จำนวน ๑๔ คน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นสื่อสาร ๕ เพิ่มขึ้น
๓. กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน
ดำเนินงานโดยใช้กระบวนการ PDCA ตามแผนผังดังนี้
๓.๑ ขั้นวางแผน (Plan)
๓.๑.๑ ศึกษาหลักสูตรของสถานศึกษาและแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning
๓.๑.๒ ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหานักเรียนรายบุคคล
๓.๒ ขั้นดำเนินการ (Do)
๓.๒.๑ ขั้นเตรียมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
- ออกแบบกิจกรรมและจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ทฤษฎี ARCS MODEL ของ John M.Keller
- จัดทำสื่อ/นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิตัลที่น่าดึงดูดใจและเหมาะสมกับเนื้อหา
๓.๒.๒ ขั้นดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ทฤษฎี ARCS MODEL ดังนี้
A (Attention) ข้าพเจ้าได้ดำเนินการจัดกิจกรรมโดยการสร้างและดึงดูดความสนใจของนักเรียนในขั้นตอนการนำเข้าสู่บทเรียน โดยการให้นักเรียนเล่นเกมส์บิงโกออนไลน์ซึ่งเป็นเกมส์ที่มีความสัมพันธ์กับเนื้อหา ที่เรียน ทำให้เนื้อหามีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ข้าพเจ้าได้มีการแทรกกิจกรรมระหว่างเรียน และนำสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจอย่างต่อเนื่อง
R (Relevance) ข้าพเจ้าได้นำเอาสื่อประกอบการจัดกิจกรรมที่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันของนักเรียนอาทิเช่น ดินสอกด เครื่องเหลาดินสอ คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเทป เป็นต้น ซึ่งนักเรียนสามารถนำเนื้อหาที่เรียน ไปประยุกต์ใช้ได้กับอุปกรณ์หลากหลายชนิดที่อยู่ในชีวิตประจำวันได้จริง ซึ่งอุปกรณ์ที่นักเรียนได้เห็นบ่อยๆจะทำให้นักเรียนเกิดความคุ้นเคยและสร้างความเกี่ยวเนื่องของภาษาได้ดียิ่งขึ้น
C (Confidence) ข้าพเจ้าสร้างความเชื่อมั่นในตนเองแก่นักเรียน ทำให้นักเรียนมีความสนใจและมุ่งมั่นในการเรียนโดย ๑.บอกจุดประสงค์ในการเรียนอย่างชัดเจน ๒.เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูดและนำสื่อใกล้ตัวมาฝึกใช้อย่างหลากหลาย ๓.ช่วยเหลือนักเรียนให้สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
S (Satisfaction) ข้าพเจ้าดำเนินกิจกรรมโดยทำให้นักเรียนมีความพึงพอใจในการเรียน โดยการให้คำชมเชย ชื่นชม เมื่อนักเรียนสามารทำได้ตามจุดประสงค์ และให้กำลังใจนักเรียนที่ยังไม่ผ่านพร้อมกับให้คำแนะนำและแก้ไขให้ถูกต้อง
๓.๓ ขั้นตรวจสอบ (Check)
๓.๓.๑ ประเมินนักเรียนมีความตื่นตัวในการทำกิจกรรมระหว่างการดำเนินกิจกรรมโดยใช้ แบบบันทึกการสังเกตและประเมินผลพฤติกรรมนักเรียนรายบุคคล และมีการปรับปรุงเป็นระยะ
๓.๓.๒ วัดและประเมินผลจากผลการเรียนระหว่างภาคเรียนรายวิชาภาษาญี่ปุ่นสื่อสาร ๕
๓.๓.๓ วัดและประเมินผลจากผลสัมฤทธิ์ปลายภาคเรียนรายวิชาภาษาญี่ปุ่นสื่อสาร ๕ ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๖
๓.๔ ขั้นปรับปรุงและพัฒนา (Action)
๓.๔.๑ วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินกิจกรรมจากแบบบันทึกการสังเกตและประเมินพฤติกรรมนักเรียนรายบุคคลเพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครั้งต่อไป
๓.๔.๒ วิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นสื่อสาร ๕ เพื่อนำข้อมูลไปวางแผน
พัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในปีการศึกษาถัดไป
๔. ผลการดำเนินงาน/ผลสัมฤทธิ์/ประโยชน์ที่ได้รับ
๔.๑ ผลที่เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์
๔.๑.๑ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖/๕ แผนการเรียนภาษาญี่ปุ่น ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๖ จำนวน ๑๔ คน มีผลสัมฤทธิ์ระหว่างเรียน ดีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐ โดยรายวิชาภาษาญี่ปุ่นเพื่อการสื่อสาร๕ มีการวัดผลประเมินผลครอบคลุมทั้ง ๔ ทักษะทางภาษา ฟัง พูด อ่าน และเขียน
๔.๑.๒ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖/๕ แผนการเรียนภาษาญี่ปุ่น ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๖ จำนวน ๑๔ คน เกิดแรงจูงใจในการเรียน และมีเจตคติที่ดีต่อวิชาภาษาญี่ปุ่น
๔.๒ ผลสัมฤทธิ์ของงาน
ผลการดำเนินงานจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning โดยใช้ทฤษฎี ARCS MODEL ด้วยสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖/๕ แผนการเรียนภาษาญี่ปุ่น ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๖ พบว่านักเรียนมีความกระตือรือร้น สนุกสนาน และมีความมั่นใจในการพูดมากขึ้น นักเรียน มีความพึงพอใจ และภาคภูมิใจในตนเอง ทำให้นักเรียนสามารถจดจำและเข้าใจเนื้อหาที่เรียนไปได้เป็นอย่างดี นักเรียนเกิดทักษะทางภาษา การฟัง พูด อ่าน และเขียน สามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยจากกระบวนการ Active Learning คือการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง นักเรียนสามารถถามและตอบโดยใช้ความรู้ที่เรียนมาอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งต่างไปจากการเรียนการสอนแบบอธิบายหรือบรรยาย มีความมั่นใจและมีแรงจูงใจในการเรียนจากการใช้ทฤษฎี ARCS MODEL และมีความตื่นเต้น สนใจในการทำกิจกรรมจากการใช้สื่อเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยเหมาะสมกับวัยของนักเรียน จากรูปแบบการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning โดยใช้ทฤษฎี ARCS MODEL ด้วยสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้นักเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ ๒ จากกิจกรรมการแข่งขันทักษะภาษาญี่ปุ่น ในงานนิทรรศการญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๕ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่
๔.๓ ประโยชน์ที่ได้รับ
๔.๓.๑ นักเรียนเกิดทักษะทางภาษา การฟัง พูด อ่าน และเขียน โดยสร้างองค์ความรู้จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)
๔.๓.๒ นักเรียนมีความมั่นใจและมีแรงจูงใจในการเรียนภาษาญี่ปุ่นจากการใช้ทฤษฎี ARCS MODEL
๔.๓.๓ นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมมากขึ้น
๔.๓.๔ นักเรียนมีความสามารถทางการเรียนสูง มีพฤติกรรมกล้าแสดงออกสูงขึ้น และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมกล้าแสดงออก
๔.๓.๕ นักเรียนได้ฝึกการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ทำให้เกิดเป็นนิสัยที่ติดตัวและเคยชินจนสามารถพัฒนาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
๔.๓.๖ นักเรียนสามารถเปลี่ยนจากผู้รับองค์ความรู้มาเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองและเผยแพร่องค์ความรู้สู่ผู้อื่น
๔.๓.๗ ครูผู้สอนโรงเรียนวังเหนือวิทยามีแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถแก้ไข และพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๕. ปัจจัยความสำเร็จ
๕.๑ ครูผู้สอนมีแนวความคิดในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพจากการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาลำปาง ลำพูน ทำให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
๕.๒ ผู้บริหารและคณะครูเห็นชอบและให้การสนับสนุนที่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนอย่างเพียงพอตลอดการดำเนินกิจกรรมจนประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
๕.๓ การใช้สื่อเทคโนโลยีในการสร้างสื่อการเรียนรู้จากโปรแกรม Canva เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียน สร้างบรรยากาศในการเรียนที่ดี ทำให้นักเรียนตื่นตัวและกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมจนบรรลุเป้าหมาย
๕.๔ การประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินกิจกรรมร่วมกันผ่านการเผยแพร่ทั้งภายใน และภายนอกสถานศึกษาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าได้เผยแพร่ไปในวงกว้าง
๕.๕ สถานศึกษาได้รับการยอมรับในด้านการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ
๕.๖ ผู้ปกครองให้การยอมรับและสนับสนุน
๕.๗. นักเรียนได้รับความรู้ที่นำไปใช้ได้จริงและนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
๖. บทเรียนที่ได้รับ
๖.๑ ข้อสรุปที่ได้เรียนรู้จากการสร้าง/พัฒนาสื่อ/นวัตกรรม
๖.๑.๑ นักเรียนเกิดทักษะทางภาษา การฟัง พูด อ่าน และเขียน โดยสร้างองค์ความรู้จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)
๖.๑.๒ นักเรียนมีความมั่นใจและมีแรงจูงใจในการเรียนภาษาญี่ปุ่นจากการใช้ทฤษฎี ARCS MODEL
๖.๑.๓ จากการใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความน่าสนใจ เหมาะสมกับวัยของนักเรียน ทำให้นักเรียนมีความตื่นตัว ให้ความสนใจในการทำกิจกรรม เกิดบรรยากาศที่ดีเหมาะสมต่อการเรียนรู้
๖.๑.๔ นักเรียนมีความภาคภูมิใจ เกิดเจตคติที่ดีต่อวิชาภาษาญี่ปุ่น
๖.๑.๔ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างเรียนในระดับดีขึ้นไป
๖.๒ ข้อเสนอแนะ ข้อควรระวัง
๖.๒.๑ ครูผู้สอนต้องวางแผนในการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกิจกรรมให้มีความชัดเจน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
๖.๒.๒ ครูผู้สอนควรตรวจสอบระหว่างทำจัดกิจกรรรมโดยให้นักเรียนได้มีการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง มีส่วนร่วมในกิจกรรมมากที่สุดและทั่วถึงทุกคน เพื่อให้นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ตลอดจนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ อันจะทำให้เกิดความคงทนในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น
๖.๒.๓ ครูผู้สอนควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในขณะร่วมทำกิจกรรม
๖.๒.๔ ครูผู้สอนควรสะท้อนตนเอง (Self-reflection) จากการดำเนินกิจกรรม
๖.๓ แนวทางในการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติม
๖.๓.๑ การพัฒนาผลงานหรือนวัตกรรม ควรจัดทำในรูปแบบของสื่อออนไลน์ เช่น การอัพโหลดลงสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อให้นักเรียนสามารถศึกษาและค้นคว้าได้ง่ายขึ้น
๖.๓.๒ ควรมีการจัดการกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทักษะด้านอื่นๆด้วย เช่น ด้านความรู้คำศัพท์ ตัวอักษรคันจิ เป็นต้น
๖.๓.๓. ควรมีการจัดกิจกรรมเช่นนี้กับนักเรียนในระดับชั้นอื่นๆ
๗. การเผยแพร่
๗.๑ ความโดดเด่นของผลงาน
๗.๑.๑ ผลงานมีความทันสมัยและน่าสนใจโดยการใช้โปรแกรม Canva ในการผลิตสื่อการเรียนรู้
๗.๑.๒ ผลงานมีความเข้าใจง่าย มีการสอนทางภาษาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน
๗.๑.๓ ผลงานมีความสะดวกและรวดเร็วในการเข้าถึงของนักเรียน
๗.๒ ข้อมูลที่ทำให้เห็นร่องรอยหลักฐานการเผยแพร่ผลงาน
๗.๒.๑ เผยแพร่แก่นักเรียนและคณะครูผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โดยการส่งผ่าน Group Line
๗.๒.๒ เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ Idea square ผ่านทาง padlet ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาลำปาง ลำพูน
๗.๓ การยกย่องชมเชย/การยอมรับ
๗.๓.๑ นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะครูมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกแบบ Active Learning โดยใช้ทฤษฎี ARCS MODEL ด้วยสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖/๕
๗.๓.๒ นักเรียนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ จากการเข้าร่วมการแข่งขันทักษะภาษาญี่ปุ่น ในงานนิทรรศการญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๕ ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่