วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ Best Practice การพัฒนาการอ่านเขียน
การพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยด้วยวิธีการฝึกฝนโดยใช้สื่อนวัตกรรม
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
ชื่อผู้นำเสนอผลงาน : นางสาวกนกวรรณ ทับจิตร์
สังกัด : โรงเรียนพัฒนาประชานุเคราะห์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติเป็นสมบัติทางวัฒนธรรม อันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้สามารถประกอบกิจธุระ การงานและดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสันติสุขและเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ กระบวนการคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีตลอดจนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นสื่อแสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรม ประเพณี สุนทรียภาพเป็นสมบัติล้ำค่าควรแก่การเรียนรู้อนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป (กระทรวงศึกษาธิการ. 2551 : 37)
ในปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ยังมีปัญหาด้าน การอ่านสะกดคำผิดในเรื่องสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์สูงมากและยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น ปัญหาตัวครูผู้สอน ครูภาษาไทยบางคนยึดหลักเกณฑ์ทางภาษาอย่างเคร่งครัดจนทำให้นักเรียนเบื่อภาษาไทย นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกิดจากตัวนักเรียน เช่น ไม่ชอบครูภาษาไทย ไม่เห็นความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนไม่รู้จักจุดหมายที่แท้จริงในการเรียนภาษาไทยว่าจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร (เรวดี อาษานาม, 2537)
ปัญหาดังกล่าวควรได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวครูผู้สอน ควรมีการศึกษาหาวิธีที่จะปรับปรุงการเรียนการสอนของตนเองให้มีประสิทธิภาพ ให้ทั้งความรู้ ให้ทักษะและความสนุกสนานไปพร้อมๆ กัน โดยส่งเสริมให้นักเรียนได้สนใจและศรัทธาในวิชาภาษาไทยให้มากขึ้น และมีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ เช่น การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา การสอนแบบกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน การสอนโดยใช้บทเรียนสำเร็จรูป การสอนแบบการ์ตูน การสอนโดยใช้เกม การใช้แบบฝึกเสริมทักษะรวมทั้งการใช้สื่อนวัตกรรมการสอนต่างๆ ซึ่งกิดานันท์ มลิทอง (2559) ได้กล่าวไว้
สื่ออการสอนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างประสบการณ์ทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียน สื่อการสอนมีให้เลือกมากมายหลายชนิด สิ่งสำคัญคือผู้สอนจะต้องเลือกและใช้สื่อการสอนให้เหมาะกับ บทเรียน สื่อการสอนนั้นจะต้องใช้ได้อย่างสะดวกและที่สำคัญก็คือ เมื่อนำมาใช้แล้วจะช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น นวัตกรรมนี้เป็นสื่อช่วยในการสอนในรายวิชาต่างๆ ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้งระดับชั้นอนุบาลถึงระดับประถมศึกษา อีกทั้งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกเนื้อหาบทเรียน ตามแต่ผู้สอนจะนำไปประยุกต์ใช้ที่จะทำการเรียนการสอนเป็นมากกว่าการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยพัฒนามาจากสื่อการสอนที่คุณครูผลิต
กิดานันท์ มลิทอง (2559) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของสื่อการสอนว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจเนื้อหาบทเรียนที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ง่ายขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้นและสามารถช่วยให้เกิดความคิดรวบยอดในเรื่องนั้นได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วช่วยกระตุ้นและสร้างความสนใจให้กับผู้เรียน ทำให้เกิดความสนุกและไม่รู้สึกเบื่อหน่ายการเรียน ทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจตรงกันและเกิดประสบการณ์ร่วมกันในวิชาที่เรียนนั้น ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น ทำให้เกิดมนุษย์สัมพันธ์อันดีในระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองและกับผู้สอนด้วย ช่วยสร้างเสริมลักษณะที่มีในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์จากการใช้สื่อเหล่านี้และช่วยแก้ปัญหาเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยการจัดให้มีการใช้สื่อในการศึกษารายบุคคลเพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจในกระบวการเรียนรู้ เพื่อเร้าความสนใจให้แก่ผู้เรียน ต้องนำเอานวัตกรรมเข้ามาผนวกกับการศึกษา ช่วยในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า “นวัตกรรมการศึกษา” ให้เข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการนำเอาแนวคิด วิธีการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามาพัฒนา ปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพให้การศึกษา ให้มีระบบที่ดียิ่งขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
ในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยนั้นทางโรงเรียนพัฒนาประชานุเคราะห์ได้ทำการประเมินความสามารถในการอ่านการเขียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พบว่าบางส่วนยังขาดทักษะในการอ่านและการเขียนค่อนข้างมาก ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในวิชาภาษาไทยและกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ต่ำกว่าเป้าหมายโดยเฉพาะวิชาภาษาไทยซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนในวิชาอื่น ๆ นักเรียนจำเป็นต้องอ่านออกเขียนได้ทุกคน ข้าพเจ้าในฐานะเป็นครูผู้สอนจึงได้เห็นความสำคัญของสื่อนวัตกรรมการสอน และนำมาช่วยในการพัฒนาการอ่านและการเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกปีที่ 1 ซึ่งได้นำมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นพิเศษเพื่อเสริมการสอนโดยการสร้างสื่อนวัตกรรมเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจเนื้อหาบทเรียนที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ง่ายขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้นและสามารถช่วยให้เกิดความคิดรวบยอดในเรื่องนั้นได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยคำนึงความเหมาะสมด้านหลักสูตรเนื้อหาสภาพผู้เรียนท้องถิ่นและสภาพสังคมปัจจุบันในการแก้ปัญหาการอ่านและการเขียนของนักเรียน จากเหตุผลดังกล่าวจึงได้พัฒนาการอ่านและการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้สื่อนวัตกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพต่อไป
จุดประสงค์
จุดประสงค์
1. เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
2. เพื่อพัฒนาความสามารถการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ผลการดำเนินการและประโยชน์ที่ได้รับ
ผลที่เกิดตามจุดประสงค์
1. ความสามารถด้านการอ่านภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้รับการพัฒนาจากการจัดกิจกรรมตามที่กำหนดครอบคลุมทุกกิจกรรม
2. ความสามารถด้านการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้รับการพัฒนาจากการจัดกิจกรรมตามที่กำหนดครอบคลุมทุกกิจกรรม
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. นักเรียนได้รับการพัฒนาการอ่านและการเขียนอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
2. ครูผู้สอนมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
3. คุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาด้านผู้เรียนมีคุณภาพสูงขึ้น
4. โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพมากขึ้น
5. โรงเรียนเป็นที่ยอมรับของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
การขยายผลต่อยอด หรือประยุกต์ใช้ผลงาน นวัตกรรมหรือแนวปฏิบัติ
การอ่านและการเขียนเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนในทุกๆ วิชา ซึ่งจะสัมฤทธิ์ผลได้จากการกระทำอย่างต่อเนื่องหรือสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนาความสามารถการอ่านและการเขียนต่อเนื่องโดยการกระตุ้นให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการอ่านและการเขียน รักการอ่านและการเขียน เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความมั่นใจในการอ่านและการเขียนได้มากยิ่งขึ้นครูผู้สอนควรฝึกฝนนักเรียนในด้านการอ่านและการเขียนอย่างสม่ำเสมอ และควรพัฒนาความสามารถการอ่านและการเขียนกับนักเรียนระดับชั้นอื่นๆ นอกจากนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (PLC) เรื่องการพัฒนาความสามารถด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทยกันระหว่างเพื่อนครูภายในโรงเรียนทั้งในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกันและต่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ Show & Share รวมถึงผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะความสามารถด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทย