การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์
ผู้วิจัย นางสาวสุทิสา รอดธานี
ปีการศึกษา 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อสร้างและหาคุณภาพเบื้องต้นของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 4) เพื่อประเมินประสิทธิผลรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการ คิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างแยกเป็น ผู้ให้ข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ ครูผู้สอน และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย จำนวน 10 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 12 คน ผู้ทดลองใช้รูปแบบ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ ประเด็นสนทนากลุ่ม แบบสอบถาม รูปแบบการจัดการเรียนการสอน แบบทดสอบวัดความสามารถด้านทักษะการคิดวิเคราะห์ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ แบบสอบถามความพึงพอใจ และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนที่ได้กับค่าเฉลี่ยที่กำหนดขึ้น (ร้อยละ 80) โดยใช้ One – Sample T Test ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางคอมพิวเตอร์ และการวิเคราะห์เนื้อหา
สรุปผลการวิจัย
1. โดยภาพรวม พบว่า การจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยในปัจจุบัน ครูมีความเป็นกันเองกับนักเรียนดี ส่วนใหญ่จัดการเรียนรู้โดยการบรรยายร่วมกับการให้นักเรียนอ่านเนื้อหาของบทเรียน ทำแบบฝึกหัด และทำแบบทดสอบในหนังสือเรียน มีสื่อรูปภาพ ใบความรู้ ประกอบการเรียน นักเรียนเห็นว่าการจัดการเรียนรู้ในวิชาภาษาอังกฤษไทยให้ประสบผลสำเร็จในการเรียน ควรมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ มีการจัดกิจกรรมให้มากขึ้น และมีกิจกรรมฝึกการอ่านวิเคราะห์และเขียนความเรียงร่วมกัน มีการบริหารเวลาที่เหมาะสมกับเนื้อหา และภาระงานในชั่วโมงนั้น ๆ ควรมีการประเมินผลในระหว่างและหลังการจัดการเรียนรู้ และมีการแจ้งให้นักเรียนทราบความก้าวหน้า และข้อบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ กระบวนการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียน มีความเหมาะสมกับการเรียนการสอนภาษาไทย เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์เป็นสำคัญ และให้ผู้เรียนมีโอกาสได้รับประสบการณ์ตรงจากการเรียนรู้ มีการจัดกลุ่มฝึกการวิเคราะห์ระหว่างกันของผู้เรียน และมีการให้ข้อมูลป้อนกลับของผู้สอนเพื่อให้ผู้เรียนได้ปรับปรุงแก้ไข ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นได้ตามจุดประสงค์ของหลักสูตร
2. ผลการพัฒนารูปแบบการสอน พบว่า รูปแบบมีองค์ประกอบสำคัญ คือ 1) องค์ประกอบเชิงโครงสร้าง ประกอบด้วย หลักการ และวัตถุประสงค์ 2) องค์ประกอบเชิงกระบวนการ ประกอบด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ขั้นการรวมความรู้ (Knowledge combination : Kc) ขั้นที่ 2 ขั้นการทำความเข้าใจ (Comprehensive : C) ขั้นที่ 3 ขั้นการวิเคราะห์ (Analysis : A) ขั้นที่ 4 ขั้นการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ (Application : A) และขั้นที่ 5 ขั้นการรู้คิดหรืออภิปัญญา (Metacognition : M) 3) เงื่อนไขสำคัญในการนำรูปแบบการสอนไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งรูปแบบมีค่าความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี ค่าความเป็นไปได้ และค่าความเหมาะสมและสอดคล้องในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อนำรูปแบบการสอนไปหาประสิทธิภาพแบบภาคสนามได้ประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 84.24/86.40 เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
3. ผลการทดลองใช้ พบว่า ความสามารถด้านทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอน มีคะแนนมากกว่าร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอน มีคะแนนมากกว่าร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และความพึงพอใจ ของผู้เรียนที่มีต่อรูปแบบการสอนอยู่ในระดับมาก
การประเมินผลประสิทธิผลของรูปแบบ พบว่า ประสิทธิภาพ (E1/E2) ของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากการทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง มีค่าเท่ากับ 85.74/86.67 มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ในภาพรวม นักเรียนเห็นด้วย ร้อยละ 86.67 และ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.33 ความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยไม่มี