การพัฒนารูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่าน
เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในการอ่านภาษาไทย
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่าน เพื่อส่งเสริม
ความเข้าใจในการอ่านภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางดวงสุดา ปาตังตะโร
ปีที่ทำวิจัย 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการอ่านเพื่อ-
ความเข้าใจในการอ่านภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพรูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่าน เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ
ในการอ่านภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่านเพื่อส่งเสริมความเข้าใจในการอ่านภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 4) เพื่อประเมินผลรูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่านที่พัฒนาขึ้น การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการพัฒนารูปแบบการอ่านเพื่อความเข้าใจภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยการสอบถามด้วยแบบสอบถามจากครูภาษาไทยและครูวิชาการ จำนวน 10 คน สนทนากลุ่มครูสอนภาษาไทย จำนวน 6 คน และสอบถามนักเรียน เรื่องสภาพปัญหาการอ่านภาษาไทยของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ ระยะที่ 2 การสร้างและหาประสิทธิภาพรูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่าน โดยการศึกษาเอกสาร ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทดลองใช้กับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง ระยะที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบ โดยนำรูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่านที่พัฒนาขึ้น ซึ่งจัดทำเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการอ่าน
แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่าน จำนวน 6 แผน ใช้เวลา 18 ชั่วโมง ไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง
ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 2 ห้องเรียน ได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม จัดเป็นกลุ่มทดลอง 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 53 คน และกลุ่มควบคุม 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 50 คน และระยะที่ 4 การประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบที่พัฒนาขึ้น โดยการสอบถามครูผู้ใช้รูปแบบและผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 15 คน แบ่งเป็นครูในโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ จำนวน 10 คน และครูโรงเรียนอื่นที่นำรูปแบบไปใช้ จำนวน 10 คน สอบถามนักเรียนและสนทนากลุ่มนักเรียนกลุ่มทดลองที่เรียนด้วยรูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามครู เรื่อง สภาพปัญหาและความต้องการพัฒนาการสอนอ่านภาษาไทย แบบเก็บข้อมูลการสนทนากลุ่มครู แบบสอบถามนักเรียน เรื่อง สภาพปัญหาการอ่านภาษาไทยของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่าน จำนวน 6 แผน แบบทดสอบวัดความเข้าใจการอ่านภาษาไทย แบบประเมินความพึงพอใจในการเรียน และแบบประเมินรูปแบบการอ่านสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบ t - test การหาประสิทธิภาพรูปแบบ และการหาดัชนีประสิทธิผลของรูปแบบ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้วิธี
การสรุปประเด็น
ผลการวิจัยพบว่า
1) ปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและการจัดการเรียนการสอนอ่านภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ได้แก่ นักเรียนอ่านแล้วสามารถสรุปความ ตีความได้ในระดับน้อย ครูขาดการปรับปรุงวิธีการสอนอ่านอย่างจริงจัง ครูมีความเห็นว่าควรปรับปรุงรูปแบบการอ่านเป็นแบบกลุ่มขนาดเล็ก
2) รูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่านเพื่อส่งเสริมความเข้าใจในการอ่านภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น มี 5 องค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหาการอ่าน ขั้นตอนกิจกรรมการอ่าน และการวัดและประเมินผล โดยขั้นตอนกิจกรรมการอ่านอ่าน 5 ขั้น ซึ่งเรียกว่า PSDRC model คือ ขั้นเตรียม (Preparation) ขั้นเรียนรู้เนื้อหา (Study) ขั้นสาธิตการอ่าน (Demonstration) ขั้นอ่านร่วมกัน (Reading) และขั้นสรุปผลการอ่าน (Conclusion)
3) กลุ่มทดลองที่เรียนด้วยรูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่าน มีคะแนนความเข้าใจในการอ่านภาษาไทยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ กลุ่มทดลองที่เรียนด้วยรูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่าน มีคะแนนความเข้าใจการอ่านภาษาไทยหลังเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุมที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4) นักเรียนกลุ่มทดลองมีระดับความพึงพอใจในการเรียนระดับมากที่สุด นักเรียนกลุ่มทดลองมีความคงทนในการเรียนรู้เมื่อทดสอบที่ระยะหลังเรียน 8 สัปดาห์ ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่านโดยผู้เกี่ยวข้อง อยู่ในระดับมากที่สุด ประสิทธิภาพของรูปแบบการอ่านแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้กลยุทธ์การอ่านที่พัฒนาขึ้น เท่ากับ 90.89/91.13 ดัชนีประสิทธิผลของรูปแบบ เท่ากับ 0.7552