แบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง “กล้วย...กล้วย” ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ จุดหมาย สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อใช้เป็นทิศทางในการจัดทำหลักสูตร การเรียนการสอนในแต่ละระดับ นอกจากนั้นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จัดทำขึ้นสำหรับท้องถิ่นและสถานศึกษาได้นำไปใช้เป็นกรอบและทิศทางในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้มีคุณภาพด้านความรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง และแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต กรอบเป้าหมาย จุดเน้นที่กำหนดสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ต้องมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ บนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมในชีวิตจริงของตน ทำให้เกิดความตระหนัก เห็นคุณค่า สำนึกรักผูกพันกับท้องถิ่น มีความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ ถิ่นฐานบ้านเกิด เป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน ตลอดจนสามารถแก้ปัญหา พัฒนาชีวิต อาชีพ ครอบครัวและสังคมของตนเองได้ตามควรแก่ฐานะ และเป็นบุคคลที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นในแง่มุมต่าง ๆ อย่างชัดเจน
ในโรงเรียนอนุบาลไทรงามมีการวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรสถานศึกษา ในการนำแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นมาใช้อย่างสัมพันธ์กับเนื้อหาสาระ และตัวชี้วัด แต่จำนวนการใช้แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นของสถานศึกษา พบว่า สถานศึกษาใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น จำนวน 1 – 2 ครั้งต่อปี หรือบางปีก็ไม่ได้ใช้ สถานศึกษามองข้ามความสำคัญของแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผู้เรียนได้พบเห็นอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว จึงคิดกันเองว่าผู้เรียนคงรู้อยู่แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงผู้เรียนเพียงแต่รู้จักเท่านั้น แต่ไม่เกิดการเรียนรู้เชิงลึก ขาดความตระหนักและเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีคุณค่าในท้องถิ่น
จากปัญหาดังกล่าว จึงมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยนำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นต่าง ๆ มาจัดการเรียนรู้ โดยมีแนวคิดว่านักเรียนทุกคนจะได้เรียนในสาระการเรียนรู้ที่เป็นวิถีชีวิตของตนเองในครอบครัว ชุมชนหรือท้องถิ่นที่เหมาะสมกับความสามารถ และวัยของนักเรียน ดังนั้นจึงได้จัดทำ แบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง “กล้วย...กล้วย” สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตามกระบวนการกล้วยไข่โมเดล ด้วยวิธีการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาการจัดการศึกษาโดยใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น เป็นสื่อเชื่อมโยงความรู้ท้องถิ่นนำไปสู่สากล เพื่อประโยชน์ในการศึกษาแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ที่ช่วยให้ผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครอง ศึกษานิเทศก์ และผู้ดูแลแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นสร้างเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสได้เรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัว สู่การพัฒนาความเป็นเจ้าของ และนำไปสู่ความยั่งยืนของท้องถิ่นซึ่งการจัดการศึกษาในช่วงชั้นที่สำคัญควรเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา อันเป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็น ว่านอนสอนง่าย รับการเรียนรู้ได้ดี มีความจดจำได้ยาวนาน และง่ายต่อการจัดการเรียนรู้