การพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์
แบบห้องเรียนกลับด้าน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์
เรื่อง พหุนาม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒
ผู้วิจัย นางสาวธัญนันท์ โบราณกุล
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล ๑ สว่างวิทยา สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองหนองคาย
ปีที่ทำการวิจัย ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๔
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ ๑) ศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหา
ทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ๒) พัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์ร่วมกับการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง พหุนาม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ๓) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์ร่วมกับการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง พหุนาม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน
๔) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์ร่วมกับการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง พหุนาม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน ๕) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์ร่วมกับการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง พหุนาม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ ได้แก่ ครูผู้สอนรายวิชาคณิตศาสตร์ จำนวน ๕ คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการตอบแบบสอบถาม ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒/๑ จำนวน ๓๘ คน โรงเรียนเทศบาล ๑ สว่างวิทยา สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองหนองคาย ในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๓ และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒/๒ โรงเรียนหนองโพธิ์วิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๔ จำนวน ๓๔ คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ๑) แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอน ๒) แบบสอบถามเกี่ยวกับความต้องการ ๓) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน ๑๔ แผน ๔) บทเรียนออนไลน์ ๕) แบบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ๖) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบปรนัยชนิดเลือกตอบ ๔ ตัวเลือก จำนวน ๓๐ ข้อ มีค่าความยากง่าย (p) ตั้งแต่ ๐.๓๐-๐.๗๐ ค่าอำนาจจำแนก (B) ตั้งแต่ ๐.๒๒-๐.๖๗ และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๘๕ ๔) แบบวัดความพึงพอใจ จำนวน ๒๐ ข้อ มีอำนาจจำแนกรายข้อ (rxy) ตั้งแต่ ๐.๒๔-๐.๗๕ และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๘๙ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบด้วย t-test (Dependent Sample)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์ร่วมกับการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ๑) ผลการสัมภาษณ์ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ พบว่า การจัดกิจกรรมครูขาดการใช้สื่อเทคโนโลยี เน้นการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดของหลักสูตร มุ่งเน้นการจำเนื้อหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ทำให้นักเรียนขาดการปรับตัวในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ควรจัดกิจกรรมเน้นให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริงด้วยตนเอง สอนโดยให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาผ่านสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ และนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้เองที่บ้านหรือที่อื่น ๆ การทำกิจกรรมในห้องเรียนควรได้รับการจัดกิจกรรมกลุ่มและร่วมมือกันทำงานเพื่อฝึกการทำงานเป็นทีมเพิ่มมากขึ้น และ ๒) ผลการสอบถามนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ที่มีต่อความต้องการในการเรียนด้วยบทเรียนออนไลน์ร่วมกับการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
๒. แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์ร่วมกับการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง พหุนาม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ มีประสิทธิภาพ (E๑/E๒) เท่ากับ ๘๔.๑๒/๘๓.๙๓ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ที่ตั้งไว้
๓. นักเรียนที่เรียนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์ร่วมกับการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง พหุนาม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๔. นักเรียนที่เรียนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์ร่วมกับการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง พหุนาม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์เฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๕. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์ร่วมกับ
การสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ โดยภาพรวม
มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก