การนำเสนอผลงาน รูปแบบหรือวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
ด้านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย (ครูผู้สอน)
ชื่อผลงาน : การจัดกิจกรรมพัฒนาความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน
ด้วยกระบวนการ SILR
ชื่อผู้เสนอผลงาน : นางสาวทัศวรรณ ละมูล
ตำแหน่ง ครู คศ.1 โรงเรียนวัดเกรียงไกร(โพธิ์ประสิทธิ์)
บทคัดย่อ
การจัดกิจกรรมพัฒนาความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานด้วยกระบวนการ SILR ครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลการจัดกิจกรรมพัฒนาความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานด้วยกระบวนการ SILR และ 2) พัฒนาความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยโรงเรียนวัดเกรียงไกร(โพธิ์ประสิทธิ์) โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานด้วยกระบวนการ SILR ประชากร ได้แก่ เด็กปฐมวัยชาย-หญิง ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 9 คน และชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 7 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ของโรงเรียนวัดเกรียงไกร(โพธิ์ประสิทธิ์) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จำนวนนักเรียนทั้งหมด 16 คน โดยดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานด้วยกระบวนการ SILR ตามวงจรการบริหารงานคุณภาพ (PDCA) ดังนี้
1. วางแผนการทำงาน (Plan = P)
1.1 กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัย
1.2 ศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 และหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนวัดเกรียงไกร(โพธิ์ประสิทธิ์) วิเคราะห์หลักการ จุดมุ่งหมาย สาระที่ควรเรียนรู้ ประสบการณ์สำคัญ มาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตัวบ่งชี้และสภาพที่พึงประสงค์
1.3 ศึกษาเอกสาร และงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยและการจัดกิจกรรมโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน
1.4 วางแผนออกแบบการจัดกิจกรรมโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน ด้วยกระบวนการ SILR
1.5 วางแผน กำหนดหน่วยการเรียนรู้ จัดทำแผนการจัดกิจกรรมพัฒนาความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน รวมทั้งการผลิตสื่อ โดยกำหนดจุดมุ่งหมาย และรูปแบบของสื่อให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก
1.6 เตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำกิจกรรม
2. ขั้นดำเนินการ (Do = D)
ดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานด้วยกระบวนการ SILR ดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นครูเล่าวรรณกรรม (Story telling = S) โดยขั้นนี้เริ่มต้นด้วยการแนะนำหนังสือ ชื่อเรื่อง ผู้แต่ง จากนั้นครูเล่านิทานให้เด็กฟังจนจบเรื่องโดยไม่ขาดตอน และเด็กได้เห็นภาพประกอบ คำ และประโยคอย่างชัดเจน
ขั้นที่ 2 ขั้นเด็กเล่าและต่อเติม (Imaginative = I) เป็นขั้นให้เด็กร่วมกันเล่าและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ฟัง โดยให้เด็กตั้งคำถามเกี่ยวกับนิทานและเปิดโอกาสให้เพื่อนๆ ในห้องช่วยกันตอบ หรือครูใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กสนทนา แสดงความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับ ตัวละคร ฉาก หรือสถานการณ์ที่สัมพันธ์กับนิทาน ให้เด็กได้คิด และทบทวนเรื่องราวเกี่ยวกับนิทานที่ได้ฟังมา
ขั้นที่ 3 ขั้นตอบสนองต่อวรรณกรรม (Learning by Doing = L) เป็นขั้นให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือกระทำร่วมกัน อย่างสอดคล้องกับเนื้อเรื่องของนิทานที่อ่าน ผ่านการเล่นละคร การทำศิลปะสร้างสรรค์ การประกอบอาหาร หรือการทำศิลปะแบบร่วมมือ
ขั้นที่ 4 ขั้นสรุปและสะท้อนกลับ (Reflection = R) เป็นขั้นให้เด็กได้แสดงออกถึงความสามารถทางภาษาที่ได้จากการฟังนิทาน และการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่องของนิทาน โดยการเล่าสรุปเรื่องราวของนิทาน หรือเล่าถึงกิจกรรมที่ได้ทำ การนำเสนอผลงานของตนเอง การอ่านคำจากในนิทาน โดยครูอ่านนำและให้เด็กฝึกอ่านตาม
3. ขั้นตรวจสอบ และประเมินผล (Check = C)
ตรวจสอบผลงาน โดยการประเมินผลการจัดกิจกรรมพัฒนาความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน ด้วยกระบวนการ SILR นำข้อบกพร่องจากการดำเนินกิจกรรมไปปรับปรุง พัฒนา และต่อยอดเป็นกิจกรรมพัฒนาคุณภาพเด็กเพิ่มเติมต่อไป
4. ขั้นปรับปรุง และพัฒนา (Act = A)
4.1 นำข้อมูลก่อนการจัดกิจกรรมและหลังการจัดกิจกรรม มาวิเคราะห์ข้อมูลและอภิปรายผล
4.2 ประชุมสะท้อนผลการจัดกิจกรรม ร่วมกันวางแผนหาแนวทางปรับปรุง พัฒนาให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้นในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป
ผลการดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานด้วยกระบวนการ SILR พบว่า เด็กปฐมวัยโรงเรียนวัดเกรียงไกร(โพธิ์ประสิทธิ์) ร้อยละ 100 มีความสามารถทางภาษาเหมาะสมกับวัย หลังได้รับการจัดกิจกรรม เด็กปฐมวัยมีความสามารถทางภาษาในด้านการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน สูงกว่าก่อนได้รับการจัดกิจกรรมพัฒนาความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยโรงเรียนวัดเกรียงไกร(โพธิ์ประสิทธิ์) โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานด้วยกระบวนการ SILR