การพัฒนารูปแบบการนิเทศ PKN-2DE
ชื่อเจ้าของผลงาน นางศิรินุช ชูกุศล ตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ
บทสรุป
การรายงานผลการพัฒนานวัตกรรมการนิเทศการศึกษา เรื่อง การพัฒนารูปแบบการนิเทศ PKN-2DEเพื่อส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการนิเทศ PKN-2DE เพื่อส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 มีวิธีดำเนินการ 4 ขั้นตอน ดังนี้
1) การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการการนิเทศการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 โดยการสอบถามความต้องการของผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 87 คน และครูผู้สอน จำนวน 87 คน
2) การสร้างและพัฒนารูปแบบการนิเทศ PKN-2DE เพื่อส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 โดยทำการยกร่างรูปแบบ มีองค์ประกอบหลัก 5 องค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา วิธีดำเนินการ และการประเมินผล และตรวจสอบร่างรูปแบบโดยผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินความสอดคล้อง (IOC) พบว่ามีดัชนีความสอดคล้อง (IOC) โดยรวมเท่ากับ 0.92 ตรวจสอบความเหมาะสมโดยใช้แบบสอบถามแบบประมาณค่า 5 ระดับ พบว่ามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และรูปแบบการนิเทศ PKN-2DE ประกอบด้วย กระบวนการ 6 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การวางแผนการนิเทศ (Planning) ขั้นตอนที่ 2 การให้ความรู้เรื่องที่นิเทศ (Knowledge) ขั้นตอนที่ 3 การสร้างเครือข่ายการนิเทศ (Network) ขั้นตอนที่ 4 การพัฒนาเครื่องมือการนิเทศ (Development) ขั้นตอนที่ 5 การปฏิบัติการนิเทศ (Do) และขั้นตอนที่ 6 การประเมินผลการนิเทศ (Evaluation)
3) การทดลองใช้รูปแบบการนิเทศ PKN-2DE เพื่อส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 โดยทดลองใช้รูปแบบการนิเทศกับครูโรงเรียนในสังกัด 87 แห่ง จำนวน 87 คน พบว่า คุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู หลังใช้รูปแบบการนิเทศสูงกว่าก่อนใช้ คิดเป็นร้อยละ 40.25 และคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู อยู่ในระดับดีถึงดีมาก จำนวน 75 คน จาก 87 คน คิดเป็นร้อยละ 86.20
4) การประเมินผลรูปแบบการนิเทศ PKN-2DE เพื่อส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 ประเมินโดยผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 87 คน และครูผู้สอน จำนวน 87 คน พบว่า รูปแบบการนิเทศมีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ มีความเป็นประโยชน์ และมีความถูกต้อง อยู่ในระดับมากที่สุด
ผลการนำนวัตกรรมรูปแบบการนิเทศ PKN-2DE เพื่อส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 ที่ได้พัฒนาขึ้นไปใช้ได้ผลดังต่อไปนี้
1. ผลที่เกิดกับครูผู้สอน
1) ครูจำนวน 87 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ได้พัฒนาความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามมาตรฐานตำแหน่ง ครู ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ และด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ โดยใช้เทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดการเรียนการสอน
2) ครูจำนวน 87 คน คิดเป็นร้อยละ 100 มีการพัฒนาเทคนิคการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning โดยคิดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจใหม่ๆ อยู่โดยตลอด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนเข้าเรียนอย่างต่อเนื่อง
3) ครูจำนวน 87 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ได้พัฒนาทักษะและแนวคิดการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคกระบวนการที่หลากหลายเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู
4) ครูจำนวน 87 คน คิดเป็นร้อยละ 100 เกิดกระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนครูทั้งในวงสนทนาระดับกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อร่วมแก้ปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอน ระดับช่วงชั้นเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาด้านพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน และระดับกลุ่มบริหารงานเพื่อร่วมกันดำเนินการในการปรับปรุง แก้ไข และส่งเสริมสนับสนุนให้สามารถจัดการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อผู้เรียน
5) ครูจำนวน 87 คน คิดเป็นร้อยละ 100 สามารถแก้ปัญหาการเรียนของนักเรียนได้ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
2. ผลที่เกิดกับนักเรียน
1) นักเรียนโรงเรียนในสังกัด จำนวน 87 ห้องเรียน คิดเป็นร้อยละ 100 มีทักษะการเรียนรู้มีผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสูงขึ้น
2) นักเรียนโรงเรียนในสังกัด จำนวน 87 ห้องเรียน คิดเป็นร้อยละ 100 มีสรรถนะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสูงขึ้น
3. ผลที่เกิดกับสถานศึกษา
1) โรงเรียนในสังกัดจำนวน 87 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100 ได้รับการนิเทศที่เป็นระบบตามรูปแบบการนิเทศ PKN-2DE และมีแนวทางในการนิเทศจัดการเรียนการสอนให้เกิดคุณภาพในการจัดการศึกษา
2) โรงเรียนในสังกัดจำนวน 87 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100 ได้พัฒนาครูผู้สอนโดยกระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยความร่วมมือของครูและบุคลากรทุกคน
รูปแบบการนิเทศ PKN-2DE เพื่อส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2
รูปแบบการนิเทศ PKN-2DE ประกอบด้วย กระบวนการนิเทศ 6 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การวางแผน (Planning) หมายถึง การวางแผนร่วมกันระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการการนิเทศ การเลือกประเด็นการนิเทศเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษา การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานการนิเทศ การชี้แจงรายละเอียดของการนิเทศ และการกำหนดปฏิทินการปฏิบัติงานการนิเทศการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู
ขั้นตอนที่ 2 การให้ความรู้ (Knowledge) หมายถึง การให้ความรู้ จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู
ขั้นตอนที่ 3 การสร้างเครือข่ายการนิเทศ (Network) หมายถึง การสร้างทีมงานผู้นิเทศ ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถด้านการสอน รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานด้านสารสนเทศ และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยการเก็บรวบรวมข้อมูลการนิเทศเป็นข้อมูลสารสนเทศที่ทันสมัยเป็นปัจจุบัน
ขั้นตอนที่ 4 การพัฒนาเครื่องมือการนิเทศ (Development) หมายถึง การสร้างเครื่องมือการนิเทศ ที่เหมาะสมและทันสมัยโดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ห้องนิเทศออนไลน์ แบบนิเทศออนไลน์ การใช้ DEEP Application ได้แก่ ZOOM, Google Meet, Microsoft Team หรือการใช้ Application LINE FACEBOOK TIKTOK เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 5 การปฏิบัติการนิเทศ (Do) หมายถึง การนิเทศเพื่อส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครู โดยการสังเกตการสอนของครูในห้องเรียน และปฏิบัติดังนี้
1) ผู้นิเทศนัดหมายการนิเทศตามปฏิทินกำหนดการนิเทศ
2) ผู้นิเทศให้ครูผู้รับการนิเทศส่งแผนการจัดการเรียนรู้ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ของครูล่วงหน้าก่อนถึงวันนิเทศ
3) ผู้นิเทศสังเกตการสอนของครูผู้รับการนิเทศในห้องเรียนโดยไม่รบกวนการสอนของครู
4) หลังจบการสอนของครู ผู้นิเทศให้ผู้รับการนิเทศสะท้อนผลการสอนของตนเอง ค้นหาข้อดี ข้อบกพร่อง สิ่งที่ต้องพัฒนา ผู้นิเทศให้คำชี้แนะอย่างเป็นกัลยาณมิตร
5) ผู้นิเทศบันทึกผลการนิเทศ
ขั้นตอนที่ 6 การประเมินผลการนิเทศ (Evaluation) หมายถึง การประเมินโดยใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) นำการสะท้อนผลการสอนของตนเอง ค้นหาข้อดี ข้อบกพร่อง สิ่งที่ต้องพัฒนาของผู้รับการนิเทศ คำชี้แนะอย่างเป็นกัลยาณมิตรของทีมผู้นิเทศ และรายงานสรุปผล