งานวิจัย ผลการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สืบเสาะแบบชี้แนะแนวทาง
ชื่อวิจัย ผลการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สืบเสาะแบบชี้แนะแนวทางโดยการปฏิบัติการทดลองบนคอมพิวเตอร์ที่มีผลต่อความเข้าใจมโนมติ เรื่อง กฎของโอห์มและความจูงใจทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นางสาวปิยรส ลาภารัตน์
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเข้าใจมโนมติ (Concept Understanding) เรื่อง กฎของโอห์ม และศึกษาความจูงใจทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สืบเสาะแบบชี้แนะแนวทางโดยปฏิบัติการทดลองบนคอมพิวเตอร์ กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 โรงเรียนจักราชวิทยา อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 34 คน โดยได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1)เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สืบเสาะแบบชี้แนะแนวทาง ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้จำนวน 4 แผน ใช้เวลาในการจัดการเรียนรู้ 8 ชั่วโมง
2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบวัดมโนมติทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง กฎของโอห์ม เป็นแบบเลือกตอบ จำนวน 12 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติได้แก่ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย และแบบสำรวจความจูงใจทางวิทยาศาสตร์ แบบมาตราประมาณค่า จำนวน 25 ประเด็น รูปแบบการวิจัยเป็นแบบไม่เข้าขั้นการทดลอง (Pre-Experimental Design) ซึ่งเป็นแบบกลุ่มเดียวที่มีการทดสอบก่อนการทดลองและหลังการทดลอง (One-Group Pretest Posttest Design) ผลการวิจัยพบว่า
1.นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สืบเสาะแบบชี้แนะแนวทางโดยปฏิบัติการทดลองบนคอมพิวเตอร์ เรื่อง กฎของโอห์ม มีคะแนนความเข้าใจมโนมติ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .05 โดยที่คะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
2.การวิเคราะห์ความจูงใจทางวิทยาศาสตร์ของผู้เรียนทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ ด้านความจูงใจภายใน (IM) ด้านความจูงใจในการทำงาน (CM) ด้านการตัดสินใจด้วยตนเอง (SDT) ด้านประสิทธิภาพของตนเอง (SEC) และด้านความจูงใจในผลการเรียน (GM) พบว่าผู้เรียนมีคะแนนความจูงใจในการเรียนวิชาฟิสิกส์ของผู้เรียนที่แตกต่างกันในมิติย่อยด้านความจูงใจภายใน (IM) ด้านการตัดสินใจด้วยตนเอง (SDT) และด้านประสิทธิภาพของตนเอง (SEC) ส่วนด้านความจูงใจในการทำงาน (CM) และด้านความจูงใจในผลการเรียน (GM) ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05