PANCAKE Model ขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีว
แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2579 กำหนดทิศทางให้คนไทยเป็นพลเมืองดีมีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้สังคมไทยต้องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งควรให้ความสำคัญในการมีทักษะชีวิตและการเตรียมเยาวชนให้มีชีวิตที่สมบูรณ์ ปลอดภัย และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ในโลกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อสุขภาวะ ความรุนแรงด้านเพศสภาวะ และความไม่เท่าเทียมทางเพศ จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องได้รับการเปิดใจยอมรับในเรื่องของเพศวิถีศึกษารอบด้าน (Comprehensive sexuality education: CSE) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เพศวิถีศึกษา โดยต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือเกี่ยวกับประโยชน์ของหลักสูตรเพศวิถีศึกษาที่มีคุณภาพ ให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสในการเตรียมพร้อม ให้สามารถควบคุมและตัดสินใจเกี่ยวกับเพศวิถี และความสัมพันธ์ของตนบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจอย่างอิสระ และมีความรับผิดชอบได้ เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ยังมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับข้อมูลเชิงลบ ที่มีความขัดแย้ง และก่อให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับเพศวิถี ที่มักถูกมองเป็นเรื่องน่าอายและไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่ ซึ่งรวมถึงพ่อแม่และครู นอกจากนั้น ทัศนคติและกฎหมายในหลายสังคมยังปิดกั้นไม่ให้มีการพูดถึงเพศวิถีและพฤติกรรมทางเพศในที่สาธารณะ อีกทั้งบรรทัดฐานทางสังคมยังเอื้อต่อสภาวะที่ไม่ปลอดภัย เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเพศอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางเพศ การวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดที่ทันสมัย เป็นต้น (องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ, 2563 : 12)
ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้นำกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) มาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ขั้นสูง และมีพัฒนาการให้เกิดทักษะวิชาการ และทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง การจัดการเรียนรู้เชิงรุกเป็นวิธีการสอนรูปแบบหนึ่งที่มีความเหมาะสมกับการเรียนรู้ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจและการนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการตื่นตัวต่อการเรียนรู้และสร้างความกระตือรือร้นด้านการรู้คิดมากกว่าวิธีการสอน โดยการท่องจำเพียงอย่างเดียว การเรียนการสอนเชิงรุกจึงมีบทบาทช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนสูงขึ้น ผู้เรียนจะเกิดความพึงพอใจในรูปแบบการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการกิจกรรมการเรียนการสอนได้ลงมือกระทำ (active learning) มากกว่าการที่ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับความรู้เพียงอย่างเดียว (passive learning) ยังมีกิจกรรมการแสวงหาความรู้ที่ผู้สอนกำหนด อีกทั้งให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูง ได้แก่ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่กล่าวว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในมโนทัศน์ที่สอนได้ถูกต้องและลึกซึ้ง เกิดความคงทนถาวร ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ได้เป็นอย่างดี เกิดความสนุกสนานจากกิจกรรมที่จัดขึ้นในการเรียนการสอนและสามารถบูรณาการความรู้ที่ได้ให้เกิดประโยชน์ เป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมหรือแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การเรียนการสอนเชิงรุก สามารถสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้เพราะการเรียนเชิงรุกเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีการสร้างกิจกรรมในชั้นเรียน ดังนั้น จึงจัดได้ว่าการเรียนการสอนเชิงรุกเป็นการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ทักษะการคิดขั้นสูง การแก้ปัญหา และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในอนาคต ซึ่งต้องสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนกล้าพูด กล้าตอบ และมีความสุขทุกการเรียนรู้ โดยสิ่งที่ครูผู้สอนควรดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิด ครูควรแสวงหารูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยอาจศึกษาจากคู่มือผลงานวิจัยหรือจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้สอนคนอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice)