การพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการเพศวิถีศึกษา
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต ประเภทครู
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566
...........................................................................................................
1. การจัดทำรายงานผลงานการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
1.1 ชื่อเรื่อง
การพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต
และวิชาภาษาอังกฤษโดยใช้กระบวนการสอนแบบ ACHARA MODEL ด้วยกิจกรรม “ข้อดี เติมใจ (Good things to fulfill your heart)”
1.2 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ตามที่กฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของ
สถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2561 ข้อ 3 กล่าวว่า ให้สถานศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน โดยมีเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องเพศที่ครอบคลุมถึงพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล พฤติกรรมทางเพศ สุขภาวะทางเพศ และมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องเพศรวมทั้งสิทธิการรับรู้ข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความเสมอภาคทางเพศนั้น ซึ่งจากการจัดกระบวนการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตตามกฎกระทรวงดังกล่าว ให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 13 คน พบว่า มีนักเรียนจำนวน 2 คน ที่มีปัญหาในเรื่อง การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล คือ มีทัศนคติที่ไม่ดีกับตนเองและผู้อื่น เช่น ขาดความรักและเคารพตนเอง ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง รู้สึกไม่ดีกับตนเอง ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ขาดความมั่นใจในตัวเอง ขาดทักษะในการอยู่ร่วมกับคนอื่น และรู้สึกไม่มีใครรัก เนื่องจากครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ต้องแยกทางกัน ขาดความรักและความอบอุ่นจากพ่อและแม่ ต้องอาศัยอยู่กับคุณตาและคุณยาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักเรียนทั้ง 2 คน พยายามหาความรักจากเพศตรงข้ามมาทดแทนความรักที่ไม่ได้รับจากพ่อและแม่ และด้วยความเชื่อผิดๆ ว่าการมีแฟนทำให้ตัวเองมีคุณค่า รู้สึกได้รับความรักและไม่ถูกทอดทิ้ง จึงส่งผลให้นักเรียนทั้ง 2 คน พยายามหาความรักจากเพศตรงข้ามด้วยการคิดว่า การมีแฟนเป็นสิ่งที่สามารถเติมเต็มสิ่งที่ตัวเองขาดได้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหารักในวัยเรียนตามมา และอาจเกิดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และปัญหาการตั้งครรภ์ในอนาคต หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการเพศวิถีศึกษาและ
ทักษะชีวิตและวิชาภาษาอังกฤษโดยใช้กระบวนการสอนแบบ ACHARA MODEL ด้วยกิจกรรม “ข้อดี เติมใจ (Good things to fulfill your heart)” มาพัฒนาและแก้ปัญหาผู้เรียนดังกล่าวให้มีทักษะการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นที่ดี และการพัฒนาทักษะส่วนบุคคลให้ดียิ่งขึ้น เช่น มีทัศนคติที่ดีกับตนเองและผู้อื่น รักและเคารพตนเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง รู้สึกดีกับตนเอง มีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเอง และมีทักษะการปรับตัวในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ตลอดจนมีทัศนคติที่ถูกต้องในการคบเพื่อนต่างเพศ และเข้าใจและรู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น
1.3 จุดประสงค์การดำเนินงาน
1. เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นที่ดีและถูกต้อง
2. เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะส่วนบุคคล และรู้จักตนเองให้ดียิ่งขึ้น
3. เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการปรับตัวในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ตลอดจนมีทัศนคติที่
ถูกต้องในการคบเพื่อนต่างเพศ