การพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม ด้วยกลยุทธ์ SPOETSarD Model
ชื่องานวิจัย : การพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม ด้วยกลยุทธ์ SPOETSarD
Model ในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียน
บ้านไร่พิทยาคม
ชื่อผู้วิจัย : สรายุทธ เกษรพรหม*
ปีที่พิมพ์ : 2566
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาสภาพการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา 2. เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา 3. เพื่อทดลองการใช้รูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมด้วยกลยุทธ์ SPOETSarD Model ในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และ 4. เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมด้วยกลยุทธ์ SPOETSarD Model ในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านไร่พิทยาคม โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงผสานวิธี ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ สำหรับการศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณ เก็บข้อมูลจากประชากร ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาและคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนบ้านไร่พิทยาคม จำนวน 73 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามแบบประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) ของลิเคอร์ท (Likert) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการหาค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (μ) และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ) ส่วนการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการสังเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) การสนทนากลุ่ม (Focus Group) และการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ (Connoisseurship)
ผลการวิจัยพบว่า สภาพการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านไร่พิทยาคมในระยะแรกนั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งครูและบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษาและคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาและการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สำหรับรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา มีกระบวนการของการมีส่วนร่วม 5 ขั้นตอน ตาม PDCAA Model ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการวางแผน (Plan : P) การมีส่วนร่วมในการดำเนินการ (Do : D) การมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผล (Check : C) การมีส่วนร่วมในการปรับปรุงและพัฒนา (Act : A) และการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบผลดำเนินการ (Accountability : A) ส่วนขอบข่ายของกระบวนการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา มี 7 ขั้นตอน ตามกลยุทธ์ SPOETSarD Model ประกอบด้วย การกําหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา (Standard : S) การจัดทําแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา (Plan : P) การดําเนินการตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษา (Operation : O) การประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษา (Evalution : E) การติดตามผลการดําเนินการ (Tracking : T) การจัดทำรายงานผลการประเมินตนเอง (Self assessment report : Sar) และ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Development : D) ซึ่งจากการทดลองการใช้รูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมด้วยกลยุทธ์ SPOETSarD Model ในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา พบว่า ในภาพรวมมีความง่ายต่อ
การนำไปใช้และมีความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนผลการประเมินรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม
ด้วยกลยุทธ์ SPOETSarD Model ในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านไร่พิทยาคม พบว่ามี
ความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ มีความเหมาะสม และมีความถูกต้อง
*ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไร่พิทยาคม อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุโขทัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
หน้า 2
นอกจากนี้ยังพบว่าในการดำเนินงานตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ของโรงเรียนบ้านไร่พิทยาคม มีผลงานดีเด่นของสถานศึกษาทั้งที่เป็นนวัตกรรม (Innovation) และผลงานที่เป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice) เช่น การจัด “10 กิจกรรมสร้างสรรค์ มหัศจรรย์การอ่าน”, นวัตกรรมการบริหารสถานศึกษา ตามจุดเน้น โดยใช้ SARA to GOOD Model ประกอบด้วย สร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา (Safe : S) สร้างโอกาส/ลดความเหลื่อมล้ำ (A-Chance : A) มีคุณภาพ (Resourceful : R) เกิดประสิทธิผล มีประสิทธิภาพ (Accomplished : A) ส่งผลให้นักเรียน เป็นคนดี (Goodness : G) เป็นคนเก่ง (Outstanding : O) อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข (Optimism : O) และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (Desirable Attribute : D), การสร้าง “7 กลยุทธ์ การบริหารสู่ความสำเร็จ” ด้วยนวัตกรรม DR.FIPSE Model ประกอบด้วย สร้างแรงปรารถนา (Desire : D) ศึกษาทรัพยากร (Resource : R) สะท้อนสภาพปัจจุบัน (Feedback : F) สร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation : I) ร่วมทำภารกิจ (Participate : P) กัลยาณมิตรนิเทศติดตาม (Supervision : S) สอบถามประเมินรายงาน (Evaluate : E) , การจัดโครงการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนด้วยกิจกรรม BANRAI Model ประกอบด้วย มีใจกรุณา มีจิตอาสา (Beneficent : B) มีความขยันหมั่นเพียรใฝ่เรียนรู้ (Assiduous : A) มีความซื่อสัตย์สุจริต (Non corruption : N) มีความรับผิดชอบ (Responsible : R) มีความประหยัด พอเพียง (Adequacy : A) มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Initiative : I), การกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา 4 มาตรฐาน หรือ STAR Model คือ มาตรฐานที่ 1 คุณภาพของผู้เรียน (Student : S) มาตรฐานที่ 2 กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Teaching: T) มาตรฐานที่ 3 กระบวนการบริหารและการจัดการ (Administrative : A) มาตรฐานที่ 4 ผลลัพธ์ที่โดดเด่น (Result : R)
คำสำคัญ : การบริหารแบบมีส่วนร่วม / การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา / โรงเรียนบ้านไร่พิทยาคม