การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.
ผู้วิจัย : นางสาวธฤตา ชนะสิทธิ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ
ปีการศึกษา : 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช โดยใช้การนิเทศแบบมีส่วนร่วม และ 2) ศึกษาความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศที่มีต่อการใช้การนิเทศแบบมีส่วนร่วม ในการขับเคลื่อน
การดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ตัวอย่างการวิจัย คือ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช จำนวน 22 โรงเรียน ซึ่งได้มาด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย โดยมีผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ของแต่ละโรงเรียนเป็นผู้ให้ข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบนิเทศ ติดตามการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. และ 2) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศที่มีต่อการใช้การนิเทศแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ( ̅x) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัย พบว่า 1) การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. โดยใช้การนิเทศแบบมีส่วนร่วม ส่งผลให้โรงเรียนดำเนินการตามกระบวนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ในระดับมาก ทั้งรายด้านและรายข้อ โดยการดำเนินงานด้านการกำหนดวิธีการบรรลุเป้าหมาย มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ( ̅x=0.91, S.D.=0.294) รองลงมา คือ ด้านวิธีการกำหนดคุณธรรมอัตลักษณ์ ( ̅x=0.90, S.D.=0.295) และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ( ̅x=0.85, S.D.=0.339) อีกทั้ง โรงเรียนที่สมัครเข้ารับการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพให้เป็นโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ระดับ 2 ดาว และ ระดับ 3 ดาว ผ่านการยกระดับคุณภาพ คิดเป็นร้อยละ 100 2) ผู้รับการนิเทศมีความพึงพอใจต่อการใช้การนิเทศแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. โดยรวมอยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ : โรงเรียนคุณธรรม สพฐ., การนิเทศแบบมีส่วนร่วม