การพัฒนากิจกรรมศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
จุดมุ่งหมาย
เพื่อพัฒนาความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ 4 ด้าน ดังนี้
1. ความคิดละเอียดลออ (Elaboration) คือ ความคิดในรายละเอียดเพื่อตกแต่งหรือขยายความคิดหลักให้ได้ความหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
2. ความคิดริเริ่ม (Originality) คือ ลักษณะความคิดที่แปลกใหม่ แตกต่างจากความคิดธรรมดา หรือความคิดง่าย ๆ ไม่ซ้ำกับใคร
3. ความคิดคล่องแคล่ว (Fluency) คือ เป็นความคิดในเรื่องเดียวกันที่ไม่ซ้ำกัน ในด้านต่าง ๆ เช่น การเลือกใช้ถ้อยคำ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ เป็นต้น
4. ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) คือ ประเภทหรือแบบของความคิดที่อาจนำเสนอเรื่องราวเดียวกันในรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่ตายตัว ความพยายามคิดได้หลายอย่างต่าง ๆ กัน เช่น ประโยชน์ของก้อนหินมีอะไรบ้าง หรือความคิดยืดหยุ่นด้านการดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์
เนื้อหา
เนื้อหาที่นำมาสร้างแผนการจัดประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ ระดับชั้นอนุบาล 3 ประยุกต์ใช้รูปแบบกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ที่มีความสัมพันธ์กับหน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ กิจกรรมการวาดภาพระบายสี กิจกรรมการพิมพ์ภาพ กิจกรรมการปั้น กิจกรรมปะติดภาพ กิจกรรมการร้อย กิจกรรมการสาน และกิจกรรมการประดิษฐ์ เป็นกิจกรรมการสร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่าย ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก มีความหลากหลาย โดยเด็กปฐมวัยเป็นผู้เลือกและสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยตนเอง
หลักการจัดกิจกรรม
1. ใช้แผนการจัดกิจกรรมศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ จำนวน 5 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน ได้แก่ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ วันละ 50 นาที จัดในช่วงกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตั้งแต่เวลา 9.40–10.30 น.
2. ขั้นตอนการใช้แผนการจัดประสบการณ์มีกระบวนการเรียนรู้ 4 ขั้นตอน ดังนี้
2.1 ขั้นกระตุ้นการเรียนรู้ หมายถึง การนำเข้าสู่กิจกรรม โดยมีสิ่งเร้ากระตุ้นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสาระที่ต้องการให้เด็กนักเรียนเรียนรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ นิทาน ของจริง ของจำลอง ภาพ กิจกรรม เกม ละคร งานศิลปะ จูงใจให้เด็กคิดและติดตาม โดยใช้คำถามหรือสนทนา หรือการอภิปราย การสังเกต การค้นหา
2.2 ขั้นนำสู่มโนทัศน์ หมายถึง การกระตุ้นให้เด็กสะท้อนคิดด้วยการโยงข้อความรู้ที่เด็กเคยเรียนมากับสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ เพื่อให้เด็กขยายความรู้ ความเข้าใจให้มากขึ้น ใช้คำถามให้เด็กตอบคำถามจากมโนทัศน์ของเด็กที่เกิดจากการเรียนรู้ของเด็กเอง
2.3 ขั้นพัฒนาด้วยกิจกรรมศิลปะ หมายถึง การมอบหมายให้เด็กถ่ายโยงความรู้ความเข้าใจ หรือสาระที่เรียนรู้ด้วยการทำกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามรูปแบบศิลปะที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้
2.4 ขั้นสรุปสาระสำคัญที่เรียนรู้ หมายถึง ขั้นตอนการสรุปความรู้ อาจใช้การถามให้เด็กได้ทบทวนความรู้ความเข้าใจสาระที่เรียนจากงานศิลปะที่ทำโดยครูกับเด็ก สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน
3. ให้เด็กมีอิสระในการปฏิบัติจากวัสดุอุปกรณ์ที่จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนมีบทบาทในการคอยช่วยกระตุ้นให้เกิดการคิด และแสดงความชื่นชมในผลงานที่เด็กสร้างขึ้น
การประเมินผล
1. ประเมินผลจากการลงมือปฏิบัติกิจกรรม
2. ประเมินผลจากผลงานเด็ก