การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมก
เพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ เรื่อง รูปสามเหลี่ยม กลุ่มสาระการ
เรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นางอารีรัตน์ ปะวะเสริม
ปีที่วิจัย 2563-2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานของการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ร่วมกับแนวคิดการสอนของ Van Hiele 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ร่วมกับแนวคิดการสอนของ Van Hiele 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับแนวคิดการสอนของ Van Hiele และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับแนวคิดการสอนของ Van Hiele
วิธีดำเนินการวิจัยนี้ แบ่งระยะการดำเนินการวิจัยเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานโดยการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนารูปแบบ ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบ โดยการยกร่างองค์ประกอบของรูปแบบ และตรวจสอบคุณภาพรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญระยะที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบ โดยการนำรูปแบบที่ผ่านการหาคุณภาพและปรับปรุงแล้วไปใช้จริงกับกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของโรงเรียนเทศบาลนาเชือก สังกัดเทศบาลตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 28 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และระยะที่ 4 การประเมินรูปแบบ เป็นการประเมินรูปแบบในประเด็นความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความถูกต้องครอบคลุมและความพึงพอใจของนักเรียนต่อรูปแบบ เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ 1) แบบสอบถามสภาพปัญหาและความต้องการ 2) แบบสัมภาษณ์ 3) แผนการจัดการเรียนรู้ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 5) แบบประเมินทักษะการสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูล ทำการวิเคราะห์เนื้อหาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การคำนวณหาประสิทธิภาพ (E1/E2) ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่าที
(t - test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า สภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านหลักการและวิธีดำเนินการเรียนรู้ มีปัญหาอยู่ในระดับมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกโจทย์ปัญหาที่น่าสนใจมาให้นักเรียนฝึกฝนอย่างหลากหลาย และการบูรณาการโจทย์ปัญหาเชื่อมโยงเรื่องราวและแนวคิดของสิ่งที่เรียนรู้ในห้องเรียนกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน รองลงมาคือ ด้านเทคนิคการจัดการเรียนรู้ และด้านการประเมินผลการเรียนรู้ ตามลำดับ จากการสอบถามความต้องการของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีความต้องการให้มีการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ ในระดับมากที่สุด
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับแนวคิดการสอนของ Van Hiele เพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ เรื่อง รูปสามเหลี่ยม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และการประเมินผล สรุปผลการประเมินคุณภาพตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด และผลการหาประสิทธิภาพกับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง ในปีการศึกษา 2563 เท่ากับ 76.89/75.25 ถือว่ามีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 75/75
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบประเด็นสรุปได้ ดังนี้
3.1 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับแนวคิดการสอนของ Van Hiele มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง รูปสามเหลี่ยม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3.2 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับแนวคิดการสอนของ Van Hiele มีคะแนนผลการประเมินทักษะการสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ เรื่อง รูปสามเหลี่ยม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ อยู่ในระดับดีมาก คิดเป็นร้อยละ 72.86
4. ผลการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบประเด็นสรุปได้ ดังนี้
4.1 รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับแนวคิดการสอนของ Van Hiele เพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ เรื่อง รูปสามเหลี่ยม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความถูกต้อง ครอบคลุมในระดับมากที่สุด
4.2 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับแนวคิดการสอนของ Van Hiele เพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ เรื่อง รูปสามเหลี่ยม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ อยู่ในระดับพึงพอใจมาก ค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.45 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.64