แนวทางการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากร
1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา โรงเรียนวัดกุ่มโคก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3
2) เพื่อศึกษาความต้องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา โรงเรียนวัดกุ่มโคก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3
3) เพื่อศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา ตามรูปแบบ การบริหาร PDCA โรงเรียนวัดกุ่มโคก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3
4) เพื่อศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา โรงเรียนวัดกุ่มโคก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้ได้มาจากวิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ประกอบด้วย
1) ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ไม่นับรวมผู้บริหารสถานศึกษาเนื่องจากเป็นผู้ศึกษา) จำนวน 12 คน
2) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (ไม่นับรวมผู้บริหารสถานศึกษา และตัวแทนครู) จำนวน 7 คน
3) ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ผู้ปกครอง 1 คน/ นักเรียน 1 คน เนื่องจากสามารถสื่อสารกับผู้ปกครองได้ค่อนข้างชัดเจน) จำนวน 87 คน
4) คณะอนุกรรมการสถานศึกษา จำนวน 21 คน
5) สมาชิกเทศบาลทุ่งคลี จำนวน 4 คน
6) ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1, 3, 5 ตำบลทุ่งคลี อำเภอเดิมบางนางบวช จำนวน 3 คน รวมจำนวน 134 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามและแบบบันทึกการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group Discussion) สถิติที่ใช้ คือ ความถี่ ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. สภาพปัจจุบันของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา โรงเรียนวัดกุ่มโคก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 พบว่า ชุมชนมีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากรทางการศึกษาโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
2. ความต้องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา โรงเรียน วัดกุ่มโคก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 พบว่า โดยภาพรวมชุมชนมีความต้องการมีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากรทางการศึกษาในระดับมากที่สุด
3. กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา ตามรูปแบบ การบริหาร PDCA โรงเรียนวัดกุ่มโคก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. แนวทางการมีส่วนร่วมของชุมชนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษา โรงเรียน วัดกุ่มโคก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 มีแนวทาง ดังนี้
4.1 ด้านการวางแผน (Plan) โรงเรียนมีการวางแผนการระดมทรัพยากร โดยให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการวางแผน กำหนดทิศทาง เป้าหมาย การระดมทรัพยากรทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในอนาคต และควรให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการการเลือกวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้บรรลุผลตามที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนด มีการวางแผนสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากร และการประชาสัมพันธ์กับทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุน ด้านต่าง ๆ และเป็นเครือข่ายในการพัฒนาโรงเรียน
4.2 ด้านการปฏิบัติตามแผน (Do) โรงเรียนควรมีการสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากร และควรมีการพัฒนาทักษะและศักยภาพของบุคลากรเกี่ยวกับการระดมทรัพยากรทางการศึกษาของโรงเรียน มีการระดมงบประมาณทั้งภายในและภายนอกชุมชน และควรดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน มีการประสานงานกับทุภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และมีการสร้างเครือข่ายสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากทุกภาคส่วน ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ประกอบด้วย เครือข่ายรุ่นของศิษย์เก่า เครือข่ายผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินงาน
4.3 ด้านการตรวจสอบและประเมินผล (Check) โรงเรียนควรมีคณะกรรมการภาคีเครือข่าย เข้าร่วมตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการระดมทรัพยากรทางการศึกษา และควรมีหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณ โรงเรียนควรเปิดโอกาสให้ชุมชน ภาคเอกชน เข้ามีส่วนในการพัฒนา ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารเรียนและภูมิทัศน์ และจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ในการจัดการเรียนการสอนโดยงบประมาณของชุมชน ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และควรเปิดโอกาสให้ชุมชน ในรูปแบบคณะกรรมการการติดตามผลการดำเนินงาน เข้าร่วมประเมินผลและตรวจสอบการบริหารงบประมาณด้านการบริหารจัดการโรงเรียน เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการระดมทรัพยากร ทางการศึกษา
4.4 ด้านการปรับปรุงแก้ไข (Act) โรงเรียนควรมีการสรุปผลการดำเนินงาน ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงกิจกรรมระดมทรัพยากรทางการศึกษา ความขาดแคลนและความต้องการของโรงเรียน เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขในการระดมทรัพยากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหา และหาแนวทางพัฒนาการระดมทรัพยากรทางการศึกษาทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นการจัดกิจกรรมการระดมทรัพยากร ควรจัดทำคู่มือการระดมทรัพยากรทางการศึกษาของสถานศึกษา และควรรายงานผลการดำเนินงานของสถานศึกษาในรูแบบที่หลากหลาย เพื่อแจ้งแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ