การเรียนรู้แบบสืบเสาะบนฐานการโต้แย้ง
ผู้วิจัย นายชนนท์สิทธิ ปิยศักดิ์เปรมสุข
ปีการศึกษา 2565
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เปรียบเทียบความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะบนฐานการโต้แย้งของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (2) เปรียบเทียบความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะบนฐานการโต้แย้งกับกลุ่มที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (3) เปรียบเทียบความเข้าใจมโนทัศน์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะบนฐานการโต้แย้งของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ (4) เปรียบเทียบความเข้าใจมโนทัศน์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะบนฐานการโต้แย้งกับกลุ่มที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ที่กำลังเรียนรายวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 2 ห้องเรียน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 1 ห้องเรียน จำนวน 50 คน และ กลุ่มควบคุม 1 ห้องเรียน จำนวน 50 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะบนฐานการโต้แย้ง เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ แบบวัดความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ และแบบวัดความเข้าใจมโนทัศน์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที
ผลการวิจัยปรากฎว่า (1) หลังการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะบนฐานการโต้แย้งนักเรียนมีความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (2) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะบนฐานการโต้แย้งมีความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (3) หลังการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะบนฐานการโต้แย้งนักเรียนมีความเข้าใจมโนทัศน์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (4) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะบนฐานการโต้แย้งมีความเข้าใจมโนทัศน์ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ สูงกว่านักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05