การพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดเล็ก
ผู้วิจัย วาสนา ต่อชาติ
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดเล็กที่มีประสิทธิผลในยุคดิจิทัล วิธีการดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน คือ 1) การวิเคราะห์และสังเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดเล็กที่มีประสิทธิผลในยุคดิจิทัล โดยใช้แบบสอบถามสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการจากครูผู้สอน จำนวน 12 คน ศึกษาดูงานสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดเล็ก จำนวน 3 โรงเรียน การสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตจากครูผู้สอน และการจัดกลุ่มสนทนาจากครูผู้สอน ตรวจสอบองค์ประกอบของรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 15 คน 2) การสร้างรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดเล็กที่มีประสิทธิผลในยุคดิจิทัล ประเมินความเหมาะสมและความเป็นได้ของรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 9 คน สร้างคู่มือการดำเนินการตามรูปแบบประเมินความเหมาะสมของคู่มือโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 9 คน 3) การนำรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดเล็กที่มีประสิทธิผลในยุคดิจิทัลไปใช้ในสภาพจริง จำนวน 1 โรงเรียน และ 4) การประเมินผลการใช้รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดเล็กที่มีประสิทธิผลในยุคดิจิทัล โดยครูผู้สอนโรงเรียนที่นำรูปแบบไปใช้ และผู้ทรงคุณวุฒิ ใช้วิธีการจัดสนทนากลุ่ม จำนวน 20 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพปัจจุบันในการดำเนินการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดเล็กที่มีประสิทธิผลในยุคดิจิทัล ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ปัญหา พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษามีภาระงานอื่นๆ มาก การยอมรับและให้เกียรติซึ่งกันและกันยังไม่ดีพอ ผลการปฏิบัติงานไม่เป็นปัจจุบันและขาดหลักฐานการปฏิบัติงาน ขวัญและกำลังใจจะเป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรม ครูผู้สอนยังไม่เข้าใจวิธีการสร้างเครื่องมือและวิธีการประเมินผลที่ถูกต้อง ส่วนความต้องการ พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาควรลดภาระงานอื่นๆ มีการนิเทศติดตามผลการทำงานอย่างเป็นระบบ ให้ขวัญและกำลังใจที่เป็นรูปธรรม กระตุ้นให้ครูผู้สอนเห็นความสำคัญและประโยชน์อันเกิดจากการประเมินผล
2. รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดเล็กที่มีประสิทธิผลในยุคดิจิทัลประกอบด้วย 6 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ วัตถุประสงค์ หลักการ กลไกการดำเนินการ วิธีดำเนินการ การประเมินผล และเงื่อนไขความสำเร็จ และวิธีดำเนินการมี 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการวางแผนการนิเทศภายใน
ยุคดิจิทัล 2) ด้านการให้ความรู้ในสิ่งที่จะทำในยุคดิจิทัล 3) ด้านการปฏิบัติงานในยุคดิจิทัล 4) ด้านการสร้างขวัญและกำลังใจในยุคดิจิทัล 5) ด้านการประเมินผลการดำเนินงานในยุคดิจิทัล 6) ด้านยุคดิจิทัลโดยดำเนินการนิเทศในขอบข่ายเนื้อหายุคดิจิทัล 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะพื้นฐาน ความรู้ การสร้างและการนำไปใช้
3. ผลการนำรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดเล็กที่มีประสิทธิผลในยุคดิจิทัล
ไปใช้ในสภาพจริง พบว่า ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดเล็กที่มีประสิทธิผลในยุคดิจิทัล พบว่า ก่อนการใช้รูปแบบโดยรวมผลการประเมินอยู่ในระดับคุณภาพดี ส่วนผลการประเมินหลังการใช้รูปแบบ โดยรวมผลการประเมินอยู่ในระดับคุณภาพดีมาก และผลการประเมินประสิทธิผลรูปแบบโดยครูผู้สอน ที่ใช้รูปแบบ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินผลการใช้รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขนาดเล็กที่มีประสิทธิผลในยุคดิจิทัล พบว่า องค์ประกอบของรูปแบบด้านวัตถุประสงค์ หลักการ กลไกการดำเนินการ วิธีดำเนินการ ประสิทธิผล และเงื่อนไขความสำเร็จ มีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมากที่สุดทุกประเด็น เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน