รายงานผลการใช้คู่มือนิเทศแบบร่วมมือร่วมใจ เพื่อพัฒนาครูในการจัด
การสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2
ผู้วิจัย ธิติมา เรืองสกุล
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของคู่มือนิเทศแบบร่วมมือร่วมใจ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย 2) เพื่อเปรียบเทียบความรู้ ความเข้าใจของครูในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการใช้คู่มือนิเทศแบบร่วมมือร่วมใจ 3) เพื่อศึกษาความสามารถของครูในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการนิเทศโดยใช้คู่มือนิเทศแบบร่วมมือร่วมใจ และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้บริหารสถานศึกษาและครูต่อคู่มือนิเทศแบบร่วมมือร่วมใจ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนระดับปฐมวัยของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 ปีการศึกษา 2563 ที่เปิดการเรียนการสอนระดับปฐมวัย จำนวน 28 โรงเรียน โดยได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ซึ่งเป็นกลุ่มโรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) ที่ผู้วิจัยรับผิดชอบในการนิเทศติดตามและประเมินผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แบ่งเป็น ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 28 คน และครูผู้สอนระดับปฐมวัย จำนวน 60 คน รวม 88 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) คู่มือนิเทศแบบร่วมมือร่วมใจ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) 2) แบบทดสอบ ความรู้ ความเข้าใจของครูในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) 3) แบบนิเทศ ติดตามผลการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบความแตกต่างโดยใช้สถิติ t - test (Dependent)
ผลการวิจัย พบว่า
1. คู่มือนิเทศแบบร่วมมือร่วมใจ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย มีประสิทธิภาพ 83.21/82.78 ซึ่งมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80
2. ครูที่ได้รับการนิเทศโดยใช้คู่มือนิเทศแบบร่วมมือร่วมใจ มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังการนิเทศสูงกว่าก่อนการนิเทศอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ครูที่ได้รับการนิเทศโดยใช้คู่มือนิเทศแบบร่วมมือร่วมใจ มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย โดยรวมอยู่ในระดับดีมาก ( = 4.51, S.D. =0.52)
4. ผู้บริหารสถานศึกษาและครูมีความพึงพอใจต่อการนิเทศโดยใช้คู่มือนิเทศแบบร่วมมือร่วมใจ เพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป (High Scope) เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย อยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด