เผยแพร่ผลงานวิจัยในชั้นเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์
ผลของการใช้กระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอนร่วมกับเทคนิคการเรียนแบบ
คิดเดี่ยว คิดคู่ คิดร่วมกัน ด้วยการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน ผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์เรื่องความน่าจะเป็นของเหตุการณ์
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา)
******************
จัดทำโดย
นางสาวสร้อยสุดา ศรีงาม
โรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา)
******************
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ก่อนและหลังการใช้กระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอนร่วมกับเทคนิคการเรียนแบบ คิดเดี่ยว คิดคู่ คิดร่วมกัน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/2 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนเมืองพัทยา 11 ด้วยการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/2 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนเมืองพัทยา 11 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 19 คนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์เรื่องความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ประกอบด้วย ครูผู้สอน เพื่อนคู่คิด หัวหน้างานวิชาการ และรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ร่วมปฏิบัติการชี้แนะและสอนงานแบบพี่เลี้ยงผ่านการพัฒนาบทเรียนร่วมกันกับผู้วิจัย ทั้ง 5 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 ขั้นวิเคราะห์เนื้อหา ขั้นที่ 2 จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ขั้นที่ 3 นำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้ในห้องเรียน ขั้นที่ 4 สะท้อนความคิด ขั้นที่ 5 ปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ เครื่องมือทดลอง คือ แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอน เรื่อง ความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ จำนวน 2 แผน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ค่าเฉลี่ยร้อยละและพัฒนาการร้อยละของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา
สรุปผลการวิจัยพบดังนี้
หลังการใช้กระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอนร่วมกับเทคนิคการเรียนแบบ คิดเดี่ยว คิดคู่ คิดร่วมกัน ผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 มัธยมศึกษาปีที่ 3/2 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 จำนวน 19 คน เรื่อง ความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ ก่อนการทำวิจัยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.84 คิดเป็นร้อยละ 18.42 หลังการทำวิจัยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 9.68 คิดเป็นร้อยละ 96.84 และมีคะแนนพัฒนาการโดยรวมคิดเป็นร้อยละ 80.35 อยู่ในระดับ ดีมาก
จากการสะท้อนคิดของนักเรียนหลังการใช้กระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอนร่วมกับเทคนิคการเรียนแบบ คิดเดี่ยว คิดคู่ คิดร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ พบว่า นักเรียนทั้ง 19 คนมีความสุขในการเรียนรู้ด้วยการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนกันเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กเก่งช่วยเด็กที่เรียนช้ากว่า นักเรียนมีความสุขกับการทำกิจกรรม รู้ที่มาที่ไปของข้อมูลได้ชัดเจน มีความสามัคคีกันรู้จักกันมากขึ้น อีกทั้งยังเกิดวัฒนธรรมของการทำงานแบบรวมพลังกันทั้งโรงเรียน เป็นการพัฒนาตนเองและนักเรียนไปพร้อมๆ กัน