รายงานการนิเทศ ติดตามการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต
โปรแกรมหลักสูตรการสอนเพศวิถีศึกษา (ออนไลน์) ได้รับการออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อใช้สำหรับการอบรมพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Electronic-learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูให้สอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการโดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา หน่วยศึกษานิเทศก์ ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยโปรแกรมชุดนี้เป็นช่องทางการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต ซึ่งได้รับการรับรองจากสานักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สามารถนับเป็นชั่วโมงพัฒนาตนเองของครูจำนวน ๒๒ ชั่วโมง ทั้งนี้เป็นไปตามกฎกระทรวงศึกษาธิการและพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ๒๕๕๙ ที่ระบุไว้ใน มาตรา ๖ สถานศึกษาจัดการสอนเพศวิถีศึกษา จัดหาและพัฒนาครูผู้สอน รวมทั้งให้บริการปรึกษาในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ระบบการดูแลช่วยเหลือกรณีตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมและต่อเนื่อง และมาตรา ๕ วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง มีสิทธิได้รับข้อมูลและบริการอนามัยเจริญพันธุ์อย่างเป็นความลับและได้รับสวัสดิการการสังคมครบถ้วน
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหนังสือที่ ศธ ๐๔๐๑๐/ว 2597 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565
แจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต โดยมอบหมายให้ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต ได้ดำเนินการนิเทศ ติดตามและประเมินผลการเรียนการสอนของครูที่ผ่านการประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ และเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต ศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบโครงการฯ จึงได้แจ้งให้โรงเรียนในสังกัดที่มีรายชื่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้ารับการอบรม หรือครูที่รับผิดชอบการจัดการเรียนรู้หลักสูตรเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต เตรียมความพร้อมเพื่อรอรับการนิเทศ ติดตาม เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อติดตามผลการอบรมหลักสูตรเพศวิถีศึกษาแบบออนไลน์
2. เพื่อนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต
3. เพื่อสรุปผลการนิเทศ ติดตาม การตรวจแผนการจัดการเรียนรู้ การสัมภาษณ์การจัดการชั้นเรียน
ระยะเวลาดำเนินการ
การดำเนินการนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการเรียนรู้/การตรวจแผนการจัดการเรียนรู้/การสัมภาษณ์การจัดการชั้นเรียน ระหว่างวันที่ 26 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 22 โรงเรียน
ผลการนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต
การดำเนินการนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต จากการตรวจแผนการจัดการเรียนรู้ การสัมภาษณ์การจัดการชั้นเรียน มีผลการประเมินระดับคุณภาพ เป็นดังนี้
จากการนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต พบว่า ครูมีการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมหลักสูตรเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตมาบูรณาการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาที่ตนเองสอน มีการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะตามวัย มีการวัดผล/ประเมินผลการเรียนรู้ที่
สอดคล้องตามจุดประสงค์การเรียนรู้ จากตารางการตรวจแผนการจัดการเรียนรู้/การสัมภาษณ์การจัดการชั้นเรียนของครูในการออกนิเทศครั้งนี้ พบว่า ครูมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อยู่ในระดับคุณภาพ ดีมาก จำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 54.55 และมีครูที่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้อยู่ในระดับคุณภาพ ดี จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 45.45
ผลความพึงพอใจการนิเทศ ติดตามการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต
หลังจากการนิเทศ เพื่อให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ผู้นิเทศได้ให้ผู้รับการนิเทศประเมินระดับความพึงพอใจต่อการนิเทศ ซึ่งสรุปผลการประเมินจากผู้รับการนิเทศได้ดังนี้
จากตารางสรุปผลแบบสอบถามความพึงพอใจการนิเทศ ติดตามการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต ของครูผู้รับการนิเทศ จำนวน 22 คน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน โดยเรียงจากลำดับคะแนนมาก ไปน้อย มีผลดังนี้ ลำดับที่ 1 ได้แก่ ด้านการนิเทศการเรียนการสอน และด้านการสรุปผล ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 4.82 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.39 และลำดับที่ 2 ได้แก่ ด้านการเตรียมความพร้อม ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 4.55 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.51 เมื่อสรุปภาพรวม
ทุกด้าน ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 4.73 เบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.43 ระดับคุณภาพ พึงพอใจมากที่สุด
ปัญหา/อุปสรรค
1. ช่วงจังหวะเวลาของการนิเทศค่อนข้างมีจำกัดเพราะจะไปชนกับการจัดกิจกรรมของโรงเรียน
ทำให้ครูไม่สะดวกที่จะให้นิเทศการเรียนการสอน
2. โรงเรียนรับหนังสือแต่ไม่ได้ประสานแจ้งครูผู้รับการนิเทศทำให้ครูไม่ได้รับหนังสือแจ้งการนิเทศฯ
ข้อเสนอแนะ
การนิเทศ ติดตามการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตควรมีความต่อเนื่องเป็นระยะ เพื่อให้ครูได้มีการแลกเปลี่ยน พัฒนา แนวทางการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ/วิธีการสอนอื่น ๆ เพิ่มขึ้น