รายงานการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Unplugged Coding
และเพื่อศึกษาพัฒนาการทางสติปัญญาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร
ผู้วิจัย นภสร รังคะกะลิน
ปีการศึกษา 2565
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาและหาประสิทธิภาพของการกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 หลังได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding กับเกณฑ์ร้อยละ 80 3) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดเชิงคำนวณของของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding และ 4) เพื่อศึกษาพฤติกรรมและพัฒนาการทางด้านสติปัญญาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่มีต่อการกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร สังกัดสำนักการศึกษาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 จำนวนนักเรียนทั้งหมด 19 คน เลือกโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดเชิงคำนวณและแบบประเมินพฤติกรรมทางสติปัญญา แบบแผนการทดลองแบบการทดลองกลุ่มเดียว และวัดก่อนเรียนและหลังเรียนกับกลุ่มเดียว (One Group Pretest - Posttest Design) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) และสถิติทดสอบ t-test (One samples t-test)
ผลการศึกษาพบว่า
1. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding สำหรับเด็กปฐมวัย มีประสิทธิภาพ ( E1/E2 ) เท่ากับ 85.79/87.11 ซึ่งมีประสิทธิภาพของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
3. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding มีความสามารถในการคิดเชิงคำนวณ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
4. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding มีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาอยู่ในระดับดีมาก