เผยแพร่ผลงานวิจัย นางกาญจนา จันทมัตตุการ
ผู้วิจัย กาญจนา จันทมัตตุการ
ปีที่วิจัย 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการประเมินโครงการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ ครูผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียน ซึ่งได้มาด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) สุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) และการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi stage sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบบันทึกผลการเรียนรู้ รวมทั้งสิ้น 8 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ วิเคราะห์ด้วยการแจกแจงความถี่และวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) โดยสรุปเป็นประเด็นสำคัญ และนำเสนอในลักษณะความเรียง
ผลการประเมินโครงการ ในทุกด้าน พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบท โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็น โดยด้านความต้องการจำเป็น (Needs) มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ ความคาดหวังและความเหมาะสมของโครงการ และประเด็นด้านปัญหาและอุปสรรคของการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด และผลการสัมภาษณ์ความต้องการจำเป็น พบว่า 1) ควรนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายในจังหวัดสงขลามาปรับใช้ในโครงการ 2) ควรนำผลผลิตที่เกิดขึ้นสู่การสร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชน และ 3) ควรถอดบทเรียนเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้จากวิทยากรหรือปราชญ์ในชุมชนสู่การจัดโครงการ ด้านปัญหาและอุปสรรค ความคาดหวังและความเหมาะสมของการประเมินโครงการ พบว่า 1) ช่วงเวลาของการดำเนินโครงการเกิดวิกฤติ โควิด-19 ทำให้เกิดอุปสรรคต่อโครงการ 2) ผู้ปกครองมีความคาดหวังให้นักเรียนมีอาชีพและรายได้ และ 3) ควรจัดกิจกรรมในพื้นที่ชุมชนให้มากขึ้น
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยด้านบุคลากร มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ งบประมาณ แรงจูงใจ การดำเนินงานของโครงการ และด้านวัสดุ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยี มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยประเด็นการวางแผน มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ การดำเนินการ การปรับปรุง แก้ไข และการตรวจสอบ มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกองค์ประกอบ ดังนี้
4.1 ผลผลิต ครูและผู้เรียนมีผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติเป็นชิ้นงาน เกิดจากการประยุกต์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ตามแนวทาง Reuse Reduce Recycle สามารถต่อยอดสู่การสร้างอาชีพและรายได้ในครัวเรือน
4.2 ผลลัพธ์
4.2.1 ผลลัพธ์เชิงปริมาณ ครูและผู้เรียนผ่านการอบรมและพัฒนาตามโครงการอย่างน้อย 80%
4.2.2 ผลลัพธ์เชิงคุณภาพ ครูและผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการประยุกต์ความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชีวิตประจำวัน และรู้คุณค่าของสิ่งของเหลือใช้
4.3 ผลกระทบ
4.3.1 ผลกระทบต่อผู้เรียน ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ และเห็นคุณค่าของความพอเพียง มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มีความรู้ในการสร้างอาชีพและต่อยอดสู่การสร้างรายได้ มีความซื่อสัตย์สุจริต เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ขยัน รักษาความสะอาด และมีความสุภาพอ่อนโยน มีการวางแผนการทำงาน รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีในสังคมและประเทศชาติ
4.3.2 ผลกระทบต่อครูและผู้บริหาร ครูและผู้บริหารมีความรู้ความเข้าใจ รู้จักวิธีการใช้เทคโนโลยีที่คุ้มค่าเหมาะสมกับทรัพยากร มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละรู้จักแบ่งปัน มีวินัย และมีความสุภาพอ่อนโยน มีการวางแผนเรียนรู้การทำงาน รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม ปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีในสังคมและประเทศชาติ มีแนวทางในการออกแบบการจัดการเรียนรู้อย่างหลากหลายผ่านการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างผลงานทางวิชาการและขอเลื่อนวิทยฐานะในระดับที่สูงขึ้นได้
4.3.3 ผลกระทบต่อผู้ปกครองและชุมชน ผู้ปกครองมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการประยุกต์ความรู้สู่การใช้ในชีวิตประจำวัน และชุมชนได้ต้นแบบการสร้างชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับสถานศึกษา มีแนวทางในการสร้างอาชีพและรายได้ในครัวเรือน สมาชิกในชุมชน
มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอดในอาชีพเดิมของตนเอง
4.4 ผลการเรียนรู้
4.4.1 พฤติกรรมที่บ่งชี้การเกิดผลผลิต (Product) นักเรียนมีผลงานเป็นของตนเองที่ประยุกต์จากสิ่งของเหลือใช้
4.4.2 พฤติกรรมที่บ่งชี้การเกิดผลลัพธ์ (Output) ครูและผู้เรียนผ่านการอบรมและพัฒนาตามโครงการอย่างน้อย 80% และครูและผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะการประยุกต์ความรู้สู่การใช้ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สูงขึ้น
4.4.3 พฤติกรรมที่บ่งชี้การเกิดผลกระทบ (Impact) ผู้เรียน ครูและผู้บริหารมีความรู้ มีคุณธรรมและรู้จักการปฏิบัติตนที่ดีในสังคม รวมทั้งครูมีแนวทางในการออกแบบการจัดการเรียนรู้อย่างหลากหลายและพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างผลงานทางวิชาการในระดับที่สูงขึ้น ผู้ปกครองและชุมชน เล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม การนำประโยชน์จากโครงการไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และการได้รับประโยชน์ต่อการเริ่มต้นสร้างอาชีพและรายได้ในครัวเรือน
4.5 ความพึงพอใจที่มีต่อโครงการ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ ครูผู้สอน และนักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมาก