การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ RAHCSE Model
ผู้วิจัย นางสาวปุณณัฏฐา ดำทอง
ปีที่ศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การพัฒนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล 7 (วัดประสิทธิชัย) 2) เพื่อสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ RAHCSE Model ของนักเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด และ 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ RAHCSE Model เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล 7 (วัดประสิทธิชัย) สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีประสิทธิภาพ 80/80 2) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ RAHCSE Model ประกอบการใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีค่าดัชนีความสอดคล้อง IOC เท่ากับ 0.5-1 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นแบบทดสอบปรนัยชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากง่าย อยู่ระหว่าง 0.26 – 0.87 ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.06 - 0.63 และมีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.91 และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.89 สถิติที่นำมาใช้ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยใช้การทดสอบแบบทีกรณีกลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระต่อกัน
ผลการศึกษาปรากฏ ดังนี้
1. การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้วย RAHCSE Model มีความเหมาะสมสอดคล้องเชิงโครงสร้างอยู่ในระดับมากที่สุด สามารถนำไปจัดการเรียนรู้ได้
2. ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 87.89/86.39 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่ตั้งไว้
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ RAHCSE Model โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ RAHCSE Model โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีทักษะการคิดอยู่ในระดับดีมาก
5. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ RAHCSE Model โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความพึงพอใจโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x-bar = 4.61, S.D. = 0.57)
โดยสรุป รูปแบบการจัดการเรียนรู้ RAHCSE Model โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพเหมาะสม ทำให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์มากขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้