การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ ISAC Model เพื่อส่งเสริมท
การคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา
ศาสนาและวัฒนธรรม
ผู้วิจัย อุ่นเรือน นามษร
ปีที่วิจัย 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมาย ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและแนวทางในการจัดการเรียนการสอนสังคมศึกษา เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ ISAC Model 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ ISAC Model และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ ISAC Model
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีขั้นตอนการวิจัย 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ขั้นตอนที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอน และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบการจัดการเรียนการสอน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านสิริขุนหาญ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 25 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) รูปแบบการจัดการเรียนการสอน 2) แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบ ISAC Model 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) แบบประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์ และ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t - test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและแนวทางในการจัดการเรียนการสอนสังคมศึกษา เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ พบว่า สภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านการใช้หลักสูตรมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านการใช้สื่อการเรียนรู้ ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และด้านการวัดและประเมินผล และการสังเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียน ครูได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับจุดเน้นที่ต้องการพัฒนานักเรียน คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ โดยได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ คือ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจากกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสร้างความรู้อย่างมีความหมายด้วยตนเอง โดยมีหลักการ คือ ให้นักเรียนได้ลงมือกระทำ การค้นหาคำตอบด้วยความอยากรู้ อยากลอง และความสงสัย เน้นการปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนและความคงทนในการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ของการจัดการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษา
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ ISAC Model เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีองค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการจัดการเรียนการสอน 4) เงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ และ 5) การประเมินผลรูปแบบ ซึ่งกระบวนการจัดการเรียนการสอน มีขั้นตอนการเรียนรู้ 4 ขั้น ชื่อว่า “ISAC” ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 ขั้นสร้างความสนใจ (Interest) ขั้นที่ 2 ขั้นวางแผนการสืบค้น (Searching) ขั้นที่ 3 ขั้นปฏิบัติกิจกรรมเพื่อการวิเคราะห์ (Activities/Analysis) และขั้นที่ 4 ขั้นสรุปมโนทัศน์ (Concept) และผลการประเมินรูปแบบ
การจัดการเรียนการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ ISAC Model พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ ISAC Model มีทักษะการคิดวิเคราะห์ และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในสาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ ISAC Model พบว่า
4.1 รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ ISAC Model ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ พบว่า มีความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความถูกต้องครอบคลุม อยู่ในระดับมากที่สุด
4.2 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ ISAC Model เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อยู่ในระดับมากที่สุด