การพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะ
ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร)
ผู้วิจัย : อินทิรา ปงลังกา
ปีการศึกษา : 2564
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 2) เพื่อศึกษาแนวทาง การพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาที่ส่งผลต่อการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 3) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) 4) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) และ 5) เพื่อประเมินและปรับปรุงรูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตามลักษณะการเก็บข้อมูล ดังนี้ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และการศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาที่ส่งผลต่อการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (R1) โดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นเพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาการบริหารสถานศึกษา (ฉบับที่ 1) และใช้แบบวิเคราะห์ข้อมูลการสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group Discussion : FGD) เพื่อหาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาที่ส่งผลต่อการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3) เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา/รองผู้อำนวยการสถานศึกษา/รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาท้องถิ่นเชียงรายโซนเหนือ จังหวัดเชียงราย ปีการศึกษา 2563 จำนวน 12 คน และครูวิชาการในโรงเรียนกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาท้องถิ่นเชียงรายโซนเหนือ จังหวัดเชียงราย ปีการศึกษา 2563 จำนวน 12 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 24 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ระยะที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) (D1) โดยใช้แบบประเมินความถูกต้องตามหลักการ ความเหมาะสมกับการบริหารและความเป็นไปได้ต่อการปฏิบัติจริง เพื่อสอบถามเกี่ยวกับความถูกต้องตามหลักการ สามารถปฏิบัติได้จริงและมีประโยชน์ (ฉบับที่ 4) เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา/รองผู้อำนวยการสถานศึกษา/รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาท้องถิ่นเชียงรายโซนเหนือ จังหวัดเชียงราย จำนวน 8 คนและครูวิชาการในโรงเรียนกลุ่มเครือข่าย พัฒนาการศึกษาท้องถิ่นเชียงรายโซนเหนือ จังหวัดเชียงราย จำนวน 8 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 23 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ระยะที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) (R2) โดยใช้แบบประเมินทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (ฉบับที่ 5) แบบประเมินทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ฉบับที่ 6) และแบบประเมินทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ฉบับที่ 7 สำหรับผู้ปกครองนักเรียน) เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) จำนวน 92 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) จำนวน 76 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) จำนวน 168 คน โดยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างจากตารางสำเร็จรูปของเครซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan) และระยะที่ 4 การประเมินและปรับปรุงรูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) (D2) โดยใช้แบบประเมินความพึงพอใจและการปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการบริหารสถานศึกษา (ฉบับที่ 8) เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) จำนวน 1 คน และครูผู้สอน โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) จำนวน 52 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 53 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และการศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาที่ส่งผลต่อการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 พบว่า โดยรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก จึงส่งผลให้มีปัญหาอยู่ในระดับน้อย เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า การบริหารงานบุคคล มีระดับคะแนนการปฏิบัติเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานทั่วไปและการบริหารงานวิชาการ ตามลำดับ และมีแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาที่ส่งผลต่อการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยการสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group Discussion : FGD) ของผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ในการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการ แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษา ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การบริหารสถานศึกษา การจัดการศึกษา โดยศึกษาหนังสือ ตำรา บทความและงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษา เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
2. ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) ที่พัฒนาขึ้น ซึ่งมี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนการบริหารสถานศึกษา มีชื่อว่า แบบ “POADIEP Stage Model” (พีโอเอดีไออีพี สเตท โมเดล) มี 7 ขั้นตอนหลัก และ 49 ขั้นตอนย่อย ได้แก่ 1. ขั้นตอนการวางแผนบริหารจัดการสถานศึกษา (Planning Administration Stage : P) 2. ขั้นตอนการออกแบบโครงสร้างการจัด การศึกษา (Organize Design Stage : O) 3. ขั้นตอนการสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ (Active Learning Construction Stage : A) 4. ขั้นตอนการปฏิบัติการเรียนรู้ (Doing by Learning Stage : D) 5. ขั้นตอนการให้คำปรึกษาระดับบุคคล (Individual Counseling Stage : I) 6. ขั้นตอนการประเมินผลและการรายงาน (Evaluation and Reporting Stage : E) และ 7. ขั้นตอนการตรวจสอบความสำเร็จของการบริหารสถานศึกษา (Performance Administration Stage : P) และ 4) เงื่อนไขการนำรูปแบบการบริหารสถานศึกษาใช้ มีความถูกต้องตามหลักการ สามารถปฏิบัติได้จริงและมีประโยชน์
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีความ สามารถในการอ่านได้ อยู่ในระดับดีมาก การเขียนได้ อยู่ในระดับดี มีทักษะคิดเลขเป็น อยู่ในระดับดี และมีความสามารถในการคิดที่หลากหลาย อยู่ในระดับมาก และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความสามารถในการอ่านได้ อยู่ในระดับดีมาก การเขียนได้ อยู่ในระดับดี มีทักษะคิดเลขเป็น อยู่ในระดับดี และมีความสามารถในการคิดที่หลากหลาย อยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินและปรับปรุงรูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) ที่มีชื่อว่า แบบ “POADIEP Stage Model” (พีโอเอดีไออีพี สเตท โมเดล) มี 7 ขั้นตอนหลัก และ 49 ขั้นตอนย่อย ควรมีการปรับปรุงในแต่ละขั้นตอนเพียงเล็กน้อย และจากการประเมินความพึงพอใจรูปแบบการบริหารสถานศึกษา แบบ “POADIEP Stage Model” มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก