การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยการมีส่วนร่วม
โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลเมืองน่าน (บ้านภูมินทร์)
ผู้วิจัย พิลาสินี ถาริยะวงศ์วนิช
ปีที่เขียน 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยการมีส่วนร่วม โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลเมืองน่าน (บ้านภูมินทร์) 2) เพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยการมีส่วนร่วม โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลเมืองน่าน (บ้านภูมินทร์) 3) เพื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยการ มีส่วนร่วม โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลเมืองน่าน (บ้านภูมินทร์) 4) เพื่อศึกษาคุณลักษณะ อันพึงประสงค์ของนักเรียน หลังการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยการมีส่วนร่วม โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลเมืองน่าน (บ้านภูมินทร์) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 ได้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน ครูในโรงเรียน จำนวน 30 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาระยะที่ 3 ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน ครูในโรงเรียนจำนวน 30 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 205 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 14 คน กลุ่มตัวอย่างได้มาโดยวิธีการเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามฉบับที่ 1 สภาพการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลเมืองน่าน (บ้านภูมินทร์) แบบสอบถามฉบับที่ 2 การดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลเมืองน่าน (บ้านภูมินทร์) แบบสอบถามฉบับที่ 3 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t - test dependent Sample
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยการมีส่วนร่วม โรงเรียน จุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลเมืองน่าน (บ้านภูมินทร์) โดยภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับน้อย เมื่อพิจารณาแต่ละด้าน พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับน้อยทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การคัดกรองนักเรียน การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การป้องกันและช่วยเหลือนักเรียน ตามลำดับ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือการส่งต่อนักเรียน
2. ผลการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยการมีส่วนร่วม โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลเมืองน่าน (บ้านภูมินทร์) โดยภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละด้าน พบว่า มีค่าเฉลี่ย อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การรู้จักนักเรียนรายบุคคล การคัดกรองนักเรียน การส่งเสริมและพัฒนานักเรียน การป้องกันและช่วยเหลือนักเรียน ตามลำดับ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ การส่งต่อนักเรียน
3. ผลการเปรียบเทียบก่อนและหลังการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยการ มีส่วนร่วม โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลเมืองน่าน (บ้านภูมินทร์) โดยภาพรวม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.31 และ 4.31 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคะแนนก่อนและหลังการพัฒนา พบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการศึกษาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน หลังการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยการมีส่วนร่วม โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลเมืองน่าน (บ้านภูมินทร์) พบว่า คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน หลังการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยการ มีส่วนร่วม โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลเมืองน่าน (บ้านภูมินทร์) โดยภาพรวม มีค่าเฉลี่ย อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละข้อ พบว่า ทุกข้อมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยมี 1 ข้อ ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต และใฝ่หาความรู้ ตามลำดับ