การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเอง
และโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมมโนมติทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้วิจัย ทิชากร โพธิ์จันทร์
ปีที่วิจัย 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบ การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองและโครงงานเป็นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองและโครงงานเป็นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองและโครงงานเป็นฐาน กลุ่มสาระ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองและโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมมโนมติทางวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัยครั้งนี้ ใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ขั้นที่ 2 การออกแบบและตรวจสอบรูปแบบ ขั้นที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบ และขั้นที่ 4 การประเมินรูปแบบ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนมัธยมเทศบาลเมืองวังน้ำเย็น สังกัดเทศบาลเมืองวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 30 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถาม 2) แบบสัมภาษณ์ 3) คู่มือการใช้รูปแบบ 4) แบบทดสอบวัดมโนมติทางวิทยาศาสตร์ 5) แผนการจัดการเรียนรู้และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการคำนวณค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบความแตกต่างของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้สถิติที (t - test แบบ Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองและโครงงานเป็นฐาน พบว่า ครูสังกัดกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ( = 3.97, S.D. = 0.58) ข้อที่มีการปฏิบัติในระดับมากที่สุด คือ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีการเชื่อมโยงเนื้อหากับชีวิตประจำวัน รองลงมาคือ จัดกิจกรรมให้อิสระในการเรียนรู้ นักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงออก จากการสรุปผลข้อเสนอแนะแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน พบว่า ครูผู้สอนมีการตั้งคำถาม โดยใช้คำถามที่ง่ายต่อการเข้าใจ มีการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียน เน้นกิจกรรมให้นักเรียนลงมือปฏิบัติด้วยตนเองมากกว่าการบรรยาย มีการเตรียมและใช้สื่อ อุปกรณ์ที่หลากหลาย เช่น แบบจำลอง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ฯลฯ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองและโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมมโนมติทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้องค์ประกอบสำคัญ คือ 1) หลักการและแนวคิด 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ และ 4) การประเมินผล กระบวนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ขั้นทบทวนความจำ ขั้นที่ 2 ขั้นนำสู่เนื้อหา ขั้นที่ 3 ขั้นบูรณาการวิธีคิด ขั้นที่ 4 ขั้นติดตามและนำไปใช้ และขั้นที่ 5 ขั้นขยายผลการเรียนรู้ ผลการประเมินคุณภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ มีความเหมาะสมในระดับมาก ( = 4.46, S.D. = 0.61)
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองและโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมมโนมติทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พบว่า
3.1 ประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองและโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมมโนมติทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เท่ากับ 85.19/84.56 ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
3.2 นักเรียนมีคะแนนทดสอบมโนมติทางวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนมีมโนมติทางวิทยาศาสตร์ โดยรวมหลังเรียน อยู่ในกลุ่มมโนมติสมบูรณ์ คิดเป็นร้อยละ 68.67 รองลงมาคือ กลุ่มมโนมติไม่สมบูรณ์ คิดเป็นร้อยละ 22.33 และกลุ่มมโนมติคลาดเคลื่อน คิดเป็นร้อยละ 9.00
4. ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองและโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมมโนมติทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนในระดับพึงพอใจมากที่สุด ( = 4.56, S.D. = 0.51)