การจัดการเรียนรู้ศิลปะแบบผสมผสาน ร่วมกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
เพื่อส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นางสาวณิชาภา ฐปนสิทธางxxxร
สาขาวิชา กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ศิลปะผสมผสาน ร่วมกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เพื่อส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่จัดการจัดการเรียนรู้ศิลปะแบบผสมผสาน ร่วมกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เพื่อส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 3) เพื่อศึกษาระดับทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หลังจากจัดการจัดการเรียนรู้ศิลปะแบบผสมผสานร่วมกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เพื่อส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ศิลปะแบบผสมผสานร่วมกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เพื่อส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/4 โรงเรียนเทศบาล ๓ (โศภนพิทยาคุณานุสรณ์) ปีการศึกษา 2564 ได้มาโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จำนวน 25 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานวิชาศิลปะร่วมกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) แบบทดสอบวัดทักษะความคิดสร้างสรรค์ 4) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ค่า T-test Dependent
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการคำนวณหาประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ศิลปะแบบผสมผสานร่วมกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เพื่อส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประกอบด้วย 1) ผลการประเมินความเหมาะสมของแผนการจัดการเรียนรู้โดยผู้เชี่ยวชาญ 5 คน พบว่าในภาพรวมทั้ง 6 ด้าน มีระดับความเหมาะสมมากที่สุด (x-bar=4.58 , S.D.=0.24 ) 2) ผลการประเมินคุณภาพของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ที่ใช้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้โดยผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน ในภาพรวม พบว่า มีระดับคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุด (x-bar=4.63 , S.D.=0.70 ) 3) ผลการคำนวณหาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ของนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง ทั้ง 3 กลุ่ม มีค่า E1/E2 ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 83.44/82.71 แสดงว่ามีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ คือ E1/E2 เท่ากับหรือสูงกว่า 80/80 ส่วนของนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง เท่ากับ 83.00/83.60 แสดงว่ามีประสิทธิภาพเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ คือ E1/E2 เท่ากับหรือสูงกว่า 80/80 เช่นกัน
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ที่เรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ศิลปะแบบผสมผสานร่วมกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เพื่อส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 นั่นแสดงว่า เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
3. ผลการวิเคราะห์การประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน หลังจากการเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ศิลปะแบบผสมผสานร่วมกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เพื่อส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในภาพรวม พบว่า มีทักษะความคิดสร้างสรรค์ในระดับมากที่สุด (x-bar=4.66 , S.D.=0.12 ) ซึ่งสูงกว่าสมมุติฐานที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านความคิด ริเริ่ม มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x-bar=4.74 , S.D.=0.22 ) ด้านที่มีค่าเฉลี่ยรองลงมา คือด้านความคิดละเอียดลออ (x-bar=4.71 , S.D.=0.13 ) โดยทั้งสองด้านมีทักษะความคิดสร้างสรรค์ในระดับมากที่สุด และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือด้านความคิดคล่อง (x-bar=4.44 , S.D.= 0.38 ) มีทักษะความคิดสร้างสรรค์ในระดับมาก
4. ผลการวิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ศิลปะแบบผสมผสานร่วมกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เพื่อส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (x-bar=4.74, S.D.=0.22 ) ซึ่งสูงกว่าสมมุติฐานที่ตั้งไว้