ผลงานนางสาววิมลรัตน์ พูนไธสง
ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่าน
อย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง คำยืมภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
ผู้วิจัย นางสาววิมลรัตน์ พูนไธสง ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนหนองโพธิ์พิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
ปีที่ทำการวิจัย ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๓
บทคัดย่อ
ในการพัฒนาครั้งนี้มีความมุ่งหมายของการวิจัยเพื่อ ๑) ศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทย ๒) สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ๓) ศึกษาผลการใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้น ดังนี้ ๓.๑) หาประสิทธิภาพของรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ๓.๒) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ๓.๓) เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ๓.๔) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ๔) เพื่อประเมินการใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้น การวิจัยแบ่งเป็น ๔ ระยะ ระยะที่ ๑ กลุ่มเป้าหมายคือ ครูผู้สอนรายวิชาภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน ๖ คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จำนวน ๑๒ คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ ระยะที่ ๒ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๗ คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบประเมินรูปแบบ ระยะที่ ๓ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓/๑ โรงเรียนหนองโพธิ์วิทยาคม จำนวน ๒๒ คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน ๑๔ แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ค่าความยากง่าย (p) ตั้งแต่ ๐.๓๒ – ๐.๗๖ และมีค่าอำนาจจำแนก (B) ตั้งแต่ ๐.๒๔ – ๐.๘๐ และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๓ แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ และแบบสอบถามความพึงพอใจ มีอำนาจจำแนกรายข้อ (rxy) ตั้งแต่ ๐.๒๘ - ๐.๗๐ และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๘๘ ระยะที่ ๔กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครูผู้สอนรายวิชาภาษาไทย จำนวน ๒๐ คน เครื่องมือที่ใช้ แบบประเมินความคิดเห็น มีค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง ๐.๔๓ - ๐.๘๕ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๐ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบ t-test (Independent system)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า การจัดการเรียนการสอนรายวิชาภาษาไทยยังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนรายวิชาภาษาไทยสอนแบบยึดตัวครูเป็นสำคัญ มักเน้นการท่องจำมากกว่าการฝึกให้นักเรียนคิด ที่ผ่านมาครูยังไม่เข้าใจวิธีการสอนและการประเมินผล ไปเน้นสอนแต่เนื้อหา จึงทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่เห็นคุณค่าของวิชาภาษาไทย และนักเรียนไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่สนใจอ่านหนังสือวรรณกรรม วรรณคดี จึงทำให้นักเรียนไม่ได้ฝึกทักษะการอ่าน ส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่ผ่านตามที่เกณฑ์กำหนด ครูผู้สอนต้องหาวิธีแก้ไขและปรับปรุงวิธีการสอน โดยควรเน้นรูปแบบการสอนที่ทันสมัย และมีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
๒. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง คำยืมภาษาต่างประเทศในภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ (IOTARE Model)มีองค์ประกอบที่พัฒนาขึ้น ๖ องค์ประกอบ คือ ๑) หลักการ ๒) วัตถุประสงค์ ๓) กระบวนการจัดการเรียนรู้ ๔) ระบบสังคม ๕) หลักการตอบสนอง และ ๖) สิ่งสนับสนุน มีขั้นตอนกระบวนการจัดการเรียนรู้ ๖ ขั้นตอน คือ ขั้นที่ ๑ นำเข้าสู่บทเรียน (Introduction : I) ขั้นที่ ๒ จัดโครงสร้างความรู้ (Organizing knowledge) ขั้นที่ ๓ ฝึกทำงานเป็นทีม (Team working) ขั้นที่ ๔ นำความรู้ไปใช้ (Adopting knowledge) ขั้นที่ ๕ ทบทวนและนำเสนอ (Review and Presentation) และ ขั้นที่ ๖ วัดและประเมินผล (Evaluation : E) ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีคุณภาพเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๕๙
๓. ผลการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง คำยืมภาษาต่างประเทศในภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ (IOTARE Model) พบว่า ๑) ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ (E๑/E๒) เท่ากับ ๘๔.๔๖/๘๔.๗๓ ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ที่ตั้งไว้ ๒) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ ๓) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ ๔) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น โดยรวมอยู่ในระดับมาก
๔. ผลการประเมินความคิดเห็นของครูผู้สอนรายวิชาภาษาไทย ต่อการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง คำยืมภาษาต่างประเทศในภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ (IOTARE Model) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก