รายงานการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้
เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงาน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2
ผู้วิจัย พิมพรรณ อนันทเสนา
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อพัฒนาการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) สำหรับครูปฐมวัยเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงาน 2) เพื่อศึกษาผลการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) สำหรับครูปฐมวัยเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงาน และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของครูปฐมวัยที่มีต่อการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ (PLC) เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงาน ผู้วิจัยดำเนินการศึกษาเพื่อตอบคำถามของการศึกษา ได้แก่ 1) การนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ (PLC) สำหรับครูปฐมวัยเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดประสบการณ์ การเรียนรู้แบบโครงงาน มีความเหมาะสมหรือไม่ 2) ผลการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) สำหรับครูปฐมวัยเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงานก่อนและหลังการนิเทศ มีความแตกต่างกันหรือไม่ และ 3) ระดับความพึงพอใจของครูปฐมวัยที่มีต่อการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) มีระดับความพึงพอใจในระดับใด ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ในปีการศึกษา 2564 เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัย ได้แก่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 117 คน ศึกษานิเทศก์ จำนวน 11 คน และครูปฐมวัยรับที่ผิดชอบชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) จำนวน 117 คนและเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) จำนวน 2,806 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและบริบทของโรงเรียน ได้แก่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 20 คน ศึกษานิเทศก์ จำนวน 8 คน ครูปฐมวัย จำนวน 30 คน และเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 3 (อายุ 5- 6 ปี) จำนวน 110 คน เครื่องมือที่ใช้การศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) คู่มือการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) สำหรับครูปฐมวัยเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงาน จำนวน 1 ฉบับ 2) แบบสอบถามความคิดเห็นคู่มือการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) สำหรับครูปฐมวัยเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบโครงงาน จำนวน 1 ฉบับ 3) แบบสอบถามความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงาน จำนวน 1 ฉบับ 4) แบบสังเกตการจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบโครงงานชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) จำนวน 1 ฉบับ 5) แบบบันทึกพัฒนาการเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 (5-6 ปี) จำนวน 1 ฉบับ และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของครูปฐมวัยที่มีต่อการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้แบบวิชาชีพ (PLC) จำนวน 1 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ความแตกต่างของคะแนนโดยใช้ t-test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
1. คู่มือการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
2. หลังการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ครูปฐมวัยมีความสามารถในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงานสูงกว่าก่อนการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 และผลการสังเกตการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงานด้านการเตรียมการ ด้านการจัดประสบการณ์แบบโครงงานและสรุปผลการจัดประสบการณ์แบบโครงงาน โดยรวมมีความสอดคล้อง เชื่อมโยง เหมาะสม อยู่ในระดับดี
3. หลังการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) นำไปสู่การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงาน เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่3 (อายุ 5-6 ปี) มีพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงให้เห็นว่า ผลการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงาน มีผลต่อ การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
4. ความพึงพอใจของครูปฐมวัยที่มีต่อการนิเทศแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ ทางวิชาชีพ (PLC) มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด