การประเมินโครงการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ผู้วิจัย กาญจนา จันทมัตตุการ
ปีที่วิจัย 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการประเมินโครงการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มี
วัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการจัดการ
เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา
คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ ครูผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียน ซึ่ง
ได้มาด้วยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random
Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์และแบบ
บันทึกผลการเรียนรู้รวมทั้งสิ้น 8 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบน
มาตรฐาน ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ วิเคราะห์ด้วยการแจกแจงความถี่และ
วิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) โดยสรุปเป็นประเด็นสำคัญ และนำเสนอในลักษณะความเรียง
ผลการประเมินโครงการ ในทุกด้าน พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบท โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุก
ประเด็น โดยด้านความต้องการจำเป็น (Needs) มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ ความคาดหวังและ
ความเหมาะสมของโครงการ และประเด็นด้านปัญหาและอุปสรรคของการจัดการเรียนรู้ตามหลัก
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด และผลการสัมภาษณ์ความต้องการจำเป็น พบว่า
1) ควรนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายในจังหวัดสงขลามาปรับใช้ในโครงการ 2)
ควรนำผลผลิตที่เกิดขึ้นสู่การสร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชน และ 3) ควรถอดบทเรียนเพื่อสังเคราะห์
องค์ความรู้จากวิทยากรหรือปราชญ์ในชุมชนสู่การจัดโครงการ ด้านปัญหาและอุปสรรค ความคาดหวัง
และความเหมาะสมของการประเมินโครงการ พบว่า 1) ช่วงเวลาของการดำเนินโครงการเกิดวิกฤติโค
วิด-19 ทำให้เกิดอุปสรรคต่อโครงการ 2) ผู้ปกครองมีความคาดหวังให้นักเรียนมีอาชีพและรายได้ และ
3) ควรจัดกิจกรรมในพื้นที่ชุมชนให้มากขึ้น
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน
ทุกด้าน โดยด้านบุคลากร มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ งบประมาณ แรงจูงใจ การดำเนินงานของ
โครงการ และด้านวัสดุ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน
ทุกด้าน โดยประเด็นการวางแผน มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ การดำเนินการ การปรับปรุง แก้ไข
และการตรวจสอบ มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุก
องค์ประกอบ ดังนี้
4.1 ผลผลิต ครูและผู้เรียนมีผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติเป็นชิ้นงาน เกิดจากการประยุกต์
สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ตามแนวทาง Reuse Reduce Recycle สามารถต่อยอด
สู่การสร้างอาชีพและรายได้ในครัวเรือน
4.2 ผลลัพธ์
4.2.1 ผลลัพธ์เชิงปริมาณ ครูและผู้เรียนผ่านการอบรมและพัฒนาตามโครงการอย่าง
น้อย 80%
4.2.2 ผลลัพธ์เชิงคุณภาพ ครูและผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการประยุกต์
ความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชีวิตประจำวัน และรู้คุณค่าของสิ่งของเหลือใช้
4.3 ผลกระทบ
4.3.1 ผลกระทบต่อผู้เรียน ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ และเห็นคุณค่าของความ
พอเพียง มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มีความรู้ในการสร้างอาชีพและต่อยอดสู่การสร้างรายได้มีความ
ซื่อสัตย์สุจริต เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ขยัน รักษาความสะอาด และมีความสุภาพอ่อนโยน มีการวางแผนการ
ทำงาน รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีในสังคมและประเทศชาติ
4.3.2 ผลกระทบต่อครูและผู้บริหาร ครูและผู้บริหารมีความรู้ความเข้าใจ รู้จัก
วิธีการใช้เทคโนโลยีที่คุ้มค่าเหมาะสมกับทรัพยากร มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ
รู้จักแบ่งปัน มีวินัย และมีความสุภาพอ่อนโยน มีการวางแผนเรียนรู้การทำงาน รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
ของสังคมและสภาพแวดล้อม ปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีในสังคมและประเทศชาติมีแนวทางในการออกแบบ
การจัดการเรียนรู้อย่างหลากหลายผ่านการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถ
พัฒนาต่อยอดสู่การสร้างผลงานทางวิชาการและขอเลื่อนวิทยฐานะในระดับที่สูงขึ้นได้
4.3.3 ผลกระทบต่อผู้ปกครองและชุมชน ผู้ปกครองมีความรู้ ความเข้าใจ และ
ทักษะการประยุกต์ความรู้สู่การใช้ในชีวิตประจำวัน และชุมชนได้ต้นแบบการสร้างชุมชนเศรษฐกิจ
พอเพียงร่วมกับสถานศึกษา มีแนวทางในการสร้างอาชีพและรายได้ในครัวเรือน สมาชิกในชุมชน
มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอดในอาชีพเดิมของตนเอง
4.4 ผลการเรียนรู้
4.4.1 พฤติกรรมที่บ่งชี้การเกิดผลผลิต (Product) นักเรียนมีผลงานเป็นของตนเอง
ที่ประยุกต์จากสิ่งของเหลือใช้
4.4.2 พฤติกรรมที่บ่งชี้การเกิดผลลัพธ์ (Output) ครูและผู้เรียนผ่านการอบรมและ
พัฒนาตามโครงการอย่างน้อย 80% และครูและผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะการประยุกต์
ความรู้สู่การใช้ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สูงขึ้น
4.4.3 พฤติกรรมที่บ่งชี้การเกิดผลกระทบ (Impact) ผู้เรียน ครูและผู้บริหารมีความรู้
มีคุณธรรมและรู้จักการปฏิบัติตนที่ดีในสังคม รวมทั้งครูมีแนวทางในการออกแบบการจัดการเรียนรู้
อย่างหลากหลายและพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างผลงานทางวิชาการในระดับที่สูงขึ้น ผู้ปกครองและชุมชน
เล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม การนำประโยชน์จากโครงการไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และการ
ได้รับประโยชน์ต่อการเริ่มต้นสร้างอาชีพและรายได้ในครัวเรือน
4.5 ความพึงพอใจที่มีต่อโครงการ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้น
พื้นฐาน ครูผู้รับผิดชอบโครงการครูผู้สอน และนักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมาก