เผยแพร่ผลงานทางวิชาการภาณุพงศ์
ผู้วิจัย : นายภาณุพงศ์ อุณชาติ
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตัวแทนความคิดทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบจำลองเป็นฐานร่วมกับภาพเคลื่อนไหวระดับอนุภาค กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 33 คน ที่ศึกษาในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบวัดตัวแทนความคิดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ ความเข้มข้นกับอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี พื้นที่ผิวกับอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี และอุณหภูมิกับอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาความสามารถของนักเรียนในการสร้างตัวแทนความคิดทางวิทยาศาสตร์ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ และวิเคราะห์ผลโดยใช้เกณฑ์ตามแนวคิดที่ปรับจาก Jaber L, Boujaoude S (2012)
ผลการวิจัยพบว่าหลังเรียนความสามารถในการสร้างตัวแทนความคิดทั้ง 3 ระดับ คือ มหภาค จุลภาค และสัญลักษณ์ ของนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งสูงขึ้นกว่าก่อนเรียนที่อยู่ในระดับต่ำ โดยพบว่าการจัดการเรียนรู้ด้วยแบบจำลองเป็นฐานร่วมกับภาพเคลื่อนไหวระดับอนุภาคนั้นให้นักเรียนเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุล ส่งผลให้นักเรียนสามารถสร้างตัวแทนความคิดทางวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ระดับได้ดีขึ้น