เผยแพร่ผลงานวิจัย โรงเรียนต้นแบบคุณธรรมจริยธรรม
(บ้านหาดใหญ่)
ผู้วิจัย ศุภรา ปางนิติคณากร
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านหาดใหญ่)
ปีที่วิจัย 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยแบบประเมินโครงการโดยใช้รูปแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) ที่ประเมินด้านบริบท (C) ปัจจัยนำเข้า (I) กระบวนการ (P) และผลผลิต (P) เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชากรและกลุ่มตัวอย่าง 6 กลุ่ม คือ ครูผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการในด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และด้านผลผลิต เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสำรวจความคิดเห็น แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินผลการจัดกิจกรรมตามโครงการ จำนวนรวม 8 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลด้านข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะวิเคราะห์ด้วยการแจกแจงความถี่และวิเคราะห์เนื้อหา โดยสรุปเป็นประเด็นสำคัญ และนำเสนอในลักษณะความเรียง
ผลการประเมิน มีดังนี้
1. ด้านบริบท ได้แก่ 1) ผลการสำรวจความต้องการจำเป็นของนักเรียน สังคม และเนื้อหารายวิชา อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน 2) ผลการสัมภาษณ์ด้านความต้องการจำเป็น ปัญหา และโอกาสและความคาดหวัง มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
สรุปผลการประเมิน ตามประเด็นตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก 20% มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านการประเมิน
2. ด้านปัจจัยนำเข้า 6 องค์ประกอบ (6M) ได้แก่ บุคลากร ทรัพยากร งบประมาณ ระบบการบริหารจัดการ วิธีการ และแรงจูงใจ อยู่ในระดับมาก ผลการประเมินตามประเด็นตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก 20% มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านการประเมิน
3. ด้านกระบวนการ 4 องค์ประกอบ (PDCA) ได้แก่ วางแผน ปฏิบัติ ตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไขอยู่ในระดับมาก ผลการประเมินตามประเด็นตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก 20% มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านการประเมิน
4. ด้านผลผลิต มีดังนี้
4.1 ผลการสำรวจความคิดเห็น มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ผลการประเมินตามประเด็นตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก 5% มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านการประเมิน
4.2 ผลการประเมินการจัดกิจกรรมตามโครงการ
4.2.1 ผลการจัดกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมตามโครงการ ค่าน้ำหนัก 5% เมื่อเทียบกับเกณฑ์ อยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 92.48 และผ่านการประเมิน
4.2.2 ผลการวัดคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน 8 ด้าน ได้แก่ 1) ขยัน 2) ประหยัด 3) ซื่อสัตย์ 4) มีวินัย 5) มีความรับผิดชอบ 6) จิตอาสาและบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ 7) มีทักษะชีวิต และ 8) มีความพอเพียง ค่าน้ำหนัก 10% มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านการประเมิน
4.2.3 ผลการจัดกิจกรรมมุ่งสู่โรงเรียนต้นแบบเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม องค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่ 1) กระบวนการบริหาร 2) ครู 3) คุณภาพผู้เรียน และ 4) ผลงานดีเด่น ค่าน้ำหนัก 5% มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านการประเมิน
4.3 ผลการสัมภาษณ์ 4 ประเด็น คือ ความสำเร็จ ปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหา สิ่งที่ได้เรียนรู้ และข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าน้ำหนัก 10% มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านการประเมิน
4.4 ผลการสำรวจความพึงพอใจ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ผลการประเมินตามประเด็นตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก 5% มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านการประเมิน
4.5 ผลการบันทึกสะท้อนการเรียนรู้ของผู้เรียน 1) ด้านความรู้และทักษะที่ได้รับ คือ ได้เรียนรู้หลักคุณธรรมจริยธรรม มีทักษะความเป็นผู้นำผู้ตาม กล้าคิดกล้าทำกล้าพูดและกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง และเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ฝึกทักษะชีวิต ได้แสดงความกตัญญูกตเวทีและมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และได้เข้าร่วมทำบุญ รักษาศีล ภาวนา และฝึกสมาธิ 2) ด้านปัญหาและอุปสรรค คือ นักเรียนบางส่วนขาดความอดทน และไม่เห็นความสำคัญของคุณธรรมจริยธรรม ผู้ปกครองบางส่วนยังละเลยและประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะสม การเรียนคุณธรรมจริยธรรมไม่ได้จัดอยู่ในแต่ละรายวิชา และขาดการเชื่อมโยงกับการนำไปใช้และติดตามผลอย่างจริงจัง กิจกรรมส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย และไม่สัมพันธ์กับความสนใจของผู้เรียน 3) ด้านประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับ คือ ได้รับความสนุก ตื่นเต้น ท้าทาย ได้เรียนรู้ทักษะการให้ การแสดงความรักและเมตตาและเห็นอกเห็นใจคนอื่น ได้เรียนรู้การปรับตัว และได้ช่วยเหลือเพื่อนในยามฉุกเฉิน ได้เข้าค่ายคุณธรรมจริยธรรม 4) ด้านข้อเสนอแนะหรือแนวทางใหม่ต่อการดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จสูงสุด คือ ควรจัดกิจกรรมพิเศษเพิ่มขึ้นในแต่ละภาคเรียน ควรให้นักเรียนร่วมวางแผนการจัดกิจกรรม ควรนำสื่อ เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ในกิจกรรมการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้มากขึ้น เช่น Moral Touch Moral Application Old is Young หรือการสร้างแอพลิเคชั่นเพื่อเรียนรู้ผ่านเครือข่ายทั่วประเทศหรือทั่วโลกที่นักเรียนมีส่วนในการบริหารจัดการเอง และ 5) ด้านข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ คือ ควรปรับเปลี่ยนกิจกรรมในค่ายคุณธรรมจริยธรรมให้น่าสนใจและตอบสนองผู้เรียนมากขึ้น ในช่วงสถานการณ์โควิดควรมีการปรับกิจกรรมให้หลากหลาย และโรงเรียนควรจัดพื้นที่ให้นักเรียนได้แสดงออกด้านคุณธรรมจริยธรรมผ่านเวที หรือมุมการเรียนรู้ในโรงเรียน